ฮาร์วาร์ด: แบบอย่างการระดมทุนแก่ ม.ไทย

ความคับข้องใจเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลันออกนอกระบบ ยังคงเป็นประเด็นที่คุกกุร่นอยู่ในความรู้สึกของหลายคน โดยล่าสุดข่าวการอดข้าวประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ และการออกมาแสดงความคิดเห็นของประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) กรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อขอให้มีการชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้นออกไป เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า สังคมยังคงมีความกังวลใจในหลายประเด็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้

ประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การขัดข้องไม่ยอมออกนอกระบบ คือ ความกังวลในเรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษาที่จะเพิ่มมากขึ้น และจะกระทบต่อนักศึกษาและผู้ปกครองที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4,999 ล้านบาท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2,848 ล้านบาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2,048 ล้านบาท แต่งบประมาณเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว การออกนอกระบบนั้น มีแนวโน้มทำให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพ มีอิสระในการบริหารจัดการ เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ด้วยเหตุนี้หากเราหาทางแก้ปัญหาเรื่อง ldquo;เงินทุนrdquo; สนับสนุนการศึกษา จะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการผลักภาระค่าใช้จ่ายแก่นักศึกษาเกินจริงลงได้
แบบอย่างการระดมทุนจากฮาร์วาร์ด

ประสบการณ์ที่ผมได้ไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้สามารถระดมทุนเข้ามหาวิทยาลัยได้เกือบ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นเกือบเท่าตัว เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากปัจจัยหลัก 4 ปัจจัยคือ

การระดมทุนผ่านการบริจาค
ในระยะเริ่มแรกการระดมทุนนั้นมาจากการการบริจาคในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เงินบริจาคจากศิษย์เก่า กลุ่มผู้ประกอบการที่รวมตัวกัน และบริจาคเงินรายปีแก่มหาวิทยาลัย รวมถึงการบริจาคเป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอยของมหาวิทยาลัย เช่น อาคารเรียน ห้องสมุด

การตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการ ความสามารถในการระดมทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาล มาจากการมองการณ์ไกลของผู้บริหารที่จัดตั้งบริษัทชื่อ บริษัทบริหารจัดการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำหน้าที่นำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนในช่องทางที่หลากหลาย เช่น ซื้อหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการได้รับเงินปันผลจากโครงการในมหาวิทยาลัย เงินบริจาค งบประมาณเพื่อการวิจัยจากรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ

การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อทำหน้าที่ระดมทุน
มีการคัดเลือกผู้บริหารที่มีความคิดก้าวหน้าในการบริหารการเงินและการลงทุน และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารการเงินและการลงทุนมาก่อน มาบริหารงานในส่วนของบริษัท รวมถึงให้อธิการบดีทำหน้าที่รณรงค์หาเงินบริจาคตามเมืองต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัย ให้สามารถรักษาความเป็นเลิศไว้
การสนับสนุนจากรัฐบาล รัฐบาลมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการบริจาคเพื่อการศึกษาในรูปของกฎหมายด้านกฎหมายด้านภาษี ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาบริจาคเงินเพื่อสถานศึกษา เพราะต้องการลดการจ่ายภาษีด้วยการสร้างตึกให้กับมหาวิทยาลัย
สำหรับการจัดสรรเงินในกองทุนเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนศูนย์วิจัย การจ้างศาสตราจารย์เข้ามาสอน รวมถึงการจัดสรรไปยังวิทยาลัยหรือคณะต่าง ๆ ในฮาร์วาร์ด นอกเหนือจากค่าหน่วยกิตที่ได้รับจากนักศึกษา และจัดสรรเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษา เพื่อเปิดโอกาส นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก จะมีเงินเพียงพอในการเรียน

มองกลับมาสู่มหาวิทยาลัยของไทย ผมเห็นว่าเราสามารถประยุกต์และนำหลักการระดมทุนมาใช้อย่างเหมาะสมได้
เช่นการรับบริจาคจากเอกชน การผลักดันงานวิจัยใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดและจดลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสนับสนุนทุนเพื่อการศึกษาได้มากขึ้น รวมถึงรัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการบริจาคเพื่อการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคม ดังตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้กลไกภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการบริจาคเพื่อการศึกษา

ในยุคเปลี่ยนผ่านมของมหาวิทยาลัยไทย การระดมทุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย หากแต่หน้าที่ประการสำคัญที่มหาวิทยาลัยไม่ควรทิ้งคือ การรับใช้สังคม และการให้โอกาสกับคนทุกระดับในการรับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้นต่อไป
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-03-05