การเคลื่อนไหวทางสังคม เงื่อนไขความสำเร็จของการปฏิรูปการเมือง

ถึงบัดนี้ กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองรอบสองได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 313 โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชน นักวิชาการ นักวิชาชีพ บุคลากรจากระบวนการยุติธรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภา คือ บทเรียนจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ความบกพร่องของรัฐธรรมนูญอันเนื่องมากจากการละเมิดและการแทรกแซงองค์กรอิสระ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทย และประชาชนยังควรร่วมกันเสนอทางออกในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านทางเวทีสาธารณะ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวและเป็นสังคมที่ร่วมกันคิด และร่วมกันพัฒนาประเทศ แลเพื่อให้เป็นการเมืองที่ภาคประชาชนมีพลังอำนาจต่อรองสูง ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยอัศวินม้าขาวหรือชนชั้นนำทางการเมืองเท่านั้น

ทำไมเราต้องปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เราต่างชื่นชมและยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ..2540 ถือกำเนิดมาจากแนวคิดในการปฏิรูปการเมืองที่มุ่งแก้ไขการเมืองทั้งระบบ โดยทำให้ระบบการเมืองและระบบราชการมีความสุจริตและชอบธรรมในการใช้อำนาจ การสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารและนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการขยายสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การปฏิรูปการเมืองรอบที่ 1 ล้มเหลวเพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ถูกบิดเบือนและละเมิด นับตั้งแต่การแทรกแซงองค์กรอิสระจนทำให้พิกลพิการไม่สามารถทำงานตรวจสอบได้จริง การแทรกแซงและคุกคามสื่อจากรัฐและผู้มีอำนาจทางการเมือง จนทำให้สื่อขาดเสรีภาพและความกล้าในการตีแผ่และนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณะอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ขณะที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการคุ้มครองและยังถูกละเมิดจากภาครัฐเสียอีก การไม่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง แต่กลับเน้นรวมศูนย์อำนาจที่ผู้นำที่บริหารประเทศแบบพึ่งพาอุปถัมภ์ และประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ขาดความจริงจังในการป้องกันและปราบปรามอย่างเด็ดขาด

คงต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 ล้มเหลว เพราะภาคประชาชนและสังคมนั้นอ่อนแอ ขาดการติดตามและตรวจสอบให้เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญได้รับการปฏิบัติจริงมากกว่าเพียงการบัญญัติไว้เป็นตัวหนังสือในแต่ละมาตราเท่านั้น ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระและบิดเบือนเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ จนทำให้การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย

แต่นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะ ณ ปัจจุบันนี้ ประชาชนมีความตื่นตัวและสนใจในทางการเมืองอย่างสูง อันจะเห็นได้จากปรากฏการณ์สนธิและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีการออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายการเมือง การรณรงค์ขับไล่ผู้นำทางการเมืองอันเนื่องมาจากปัญหาจริยธรรมทางการเมือง การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองรอบสอง ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเมืองจากผู้เชี่ยวชาญผ่านการชุมนุมในเวทีสาธารณะตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมากมาย ตั้งแต่การประกาศยุบสภา การไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ...ทักษิณ รวมไปถึงกระแสการปฏิรูปการเมืองโดยให้มีการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ด้วยเหตุดังนั้น การปฏิรูปการเมืองรอบสองจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกระแสให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ไม่ปล่อยให้การปฏิรูปการเมืองอยู่ในมือของนักการเมืองหรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ภาคประชาชนอาจจะรวมตัวกันโดยอยู่ในรูปแบบพันธมิตร สมัชชา สมาพันธ์ สถาบันวิชาการ โรงเรียน สถานที่ทำงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่เชื่อมเครือข่ายระหว่างกันให้กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่และกว้างขวางมากที่สุด เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองและสังคม

ประเด็นที่ประชาชนควรได้รับความรู้และความเข้าใจ

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-05-14