ไม่ต้องเสียเวลาตีความ ถ้ามีหนังสือนิยามศัพท์รัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับรับฟังความคิดเห็น ที่ได้ตีพิมพ์ออกมาให้ประชาชนศึกษากัน ก่อนที่จะถึงเวลาลงประชามติเพื่อรับร่างฯนั้น ปรากฏว่ามีคำเฉพาะที่อาจตีความได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ภาษาหรือข้อความบางประโยคยังคลุมเครือ และยากต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไปได้
อาทิ ในมาตรา 68 (2) ที่มีข้อความว่า ภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง อาจก่อให้เกิดความสงสัยถึงระดับความวิกฤติ ลักษณะเหตุการณ์คับขันว่าเป็นอย่างไร ในมาตรา 73 (1) มีคำว่า หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งแปลมาจากคำว่า Good Governance และ ในมาตรา 117 มีคำว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งควรมีนิยามอธิบายให้เข้าใจตรงกันได้ชัดเจน ก็ยังมีความหมายเป็นนามธรรมอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประชาชนผู้อ่านและใช้รัฐธรรมนูญอาจไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์จะเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้อย่างทั่วถึง และเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ได้รับการยอมรับเนื่องด้วยเนื้อหาสาระที่สมเหตุสมผล เป็นประโยชน์ และใช้ได้จริงท่ามกลางภาวะบ้านเมืองปัจจุบัน รวมถึงไม่เพิ่มความสับสนวุ่นวายในการตีความคำคลุมเครือ จึงควรมี ldquo;หนังสือนิยามศัพท์รัฐธรรมนูญrdquo; พิมพ์ออกมาควบคู่กับรัฐธรรมนูญของปวงชนชาวไทยด้วย
โดยเสนอว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรจัดทำ ldquo;หนังสือนิยามศัพท์รัฐธรรมนูญrdquo; ขึ้นควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในส่วนของเนื้อหาที่จะบรรจุในหนังสือนิยามศัพท์รัฐธรรมนูญนั้น ควรประกอบด้วยคำศัพท์หรือข้อความที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ หรือสามารถตีความได้หลายรูปแบบ เป็นการปิดกั้นโอกาสผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ผลประโยชน์ตกแก่ตนเองและพวกพ้อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้การศึกษาแก่ประชาชนมากขึ้น ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคำอธิบายอย่างชัดเจน ลดปัญหาการตีความเมื่อต้องนำไปใช้ให้มากที่สุด
ผมจึงหวังว่าข้อเสนอนี้ จะไม่ทำให้สูญเสียงบประมาณในการผลิตหนังสือฯไปอย่างสูญเปล่า แต่ในทางกลับกันจะยิ่งช่วยประหยัดเวลาในการตีความถ้อยคำที่คลุมเครือ และป้องกันการถูกใช้ไปในทางที่ผิดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางปัญญาแก่ประชาชนในการทำความเข้าใจกฎหมายสูงสุดของประเทศ อันเป็นการสร้างรากฐานสังคมแห่งการเรียนรู้ให้ประชาชนชาวไทยอีกทางหนึ่ง