แก้ปัญหาการวิจัยและพัฒนา ด้วยการจัดการด้านอุปสงค์

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้เข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

แผนแม่บทดังกล่าวประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน การออกกฎระเบียบ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสถาบัน โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ กำหนดให้สถานประกอบการในประเทศ ร้อยละ 35 มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยกับมหาวิทยาลัยและภาคการผลิตอย่างใกล้ชิด รวมถึงสนับสนุนให้มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้หากวิเคราะห์ปัญหาการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย จะพบว่า

ประเทศไทยมุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านอุปทานของการวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาการวิจัยและพัฒนาอย่างไม่สมดุล โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านอุปทานของการวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานวิจัย การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย เป็นต้น ซึ่งแม้ว่ามีความจำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอ

ประเทศไทยขาดแคลนอุปสงค์ด้านการวิจัยและพัฒนา

ประเทศไทยยังขาดแคลนอุปสงค์ต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีขนาดเล็ก ทำให้ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจในการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา เพราะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มทุน

ทั้งนี้โดยปกติในประเทศที่พัฒนาแล้วภาคเอกชนมักจะเป็นผู้ลงทุนหลักในการทำวิจัยพัฒนาโดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมากและมีฐานการตลาดขนาดใหญ่จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยกลับไม่ได้เป็นหัวจักรสำคัญในการทำวิจัยและพัฒนา เนื่องจากกิจการขนาดใหญ่จำนวนมากในประเทศไทยเติบโตขึ้นภายใต้บรรยากาศตลาดผูกขาด อันเนื่องจากการคุ้มครองของระบบสัมปทาน การกีดกันทางการค้าและสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่ได้รับจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง กิจการเหล่านี้จึงแทบไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนทำวิจัย เพราะการลงทุนทางการเมืองเพื่อได้มาซึ่งสิทธิการผูกขาดได้ผลที่คุ้มค่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนทำวิจัย

สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญการสร้างนวัตกรรม

สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมหรือสร้างความแตกต่างมากนัก สังเกตได้จากการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในไทยที่มักจะทำธุรกิจลอกเลียนแบบกิจการอื่น โดยไม่พยายามคิดค้นสินค้า และบริการใหม่ ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาขาดประสิทธิภาพ ผู้ผลิตจึงขาดแรงจูงใจในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อคิดค้นนวัตกรรมหรือพัฒนากระบวนการผลิต เพราะการลงทุนวิจัยและพัฒนามีความเสี่ยงที่จะถูกผู้อื่นลอกเลียนแบบ

นอกจากนี้ผู้บริโภคในประเทศไทยยังมีลักษณะของความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่ขาดความประณีตละเอียดอ่อน (Sophisticate) หรือไม่เรื่องมากกับการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งไม่เรียกร้องสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภค เมื่อไม่ได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานหรือในราคาที่เป็นธรรม ประกอบกับกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยอ่อนแอ จึงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ภายใต้บริบทเช่นนี้จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการไม่จำเป็นต้องทำวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้สินค้าและบริการของตนให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะไม่ว่าผลิตออกมาอย่างไรก็ยังคงขายได้

แนวทางแก้ปัญหาการวิจัยและพัฒนาด้วยการจัดการด้านอุปสงค์

ผมเห็นว่าการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ควรเน้นเฉพาะด้านอุปทานด้วยการสนับสนุนเงินทุน ทรัพยากร องค์ความรู้ และบุคลากรสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ควรจัดการด้านอุปสงค์ของการวิจัยและพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการแข่งขันด้วยการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น และการพัฒนากฎหมายและกลไกการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Antitrust law) การขจัดปัญหาคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อน การพัฒนากลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการปรับปรุงระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการทำธุรกิจ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนทำให้ผู้บริโภครู้จักการรักษาสิทธิของตนเอง
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-03-16