รัฐบาลจัดงบประมาณแบบสมดุลจริงหรือ?

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

รัฐบาลมักอ้างว่าได้จัดทำงบประมาณแบบสมดุลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 เป็นต้นมา แต่หากวิเคราะห์กรณีที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะกำลังศึกษาการแปลงตั๋วเงินคลังที่เกิดจากการชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีก่อน ๆ วงเงิน 1.7 แสนล้านบาทเป็นพันธบัตร และการกำหนดกรอบการจัดงบประมาณประมาณปี 2550 ซึ่งมีการจัดงบ 1.8 หมื่นล้านบาทเพื่อใส่คืนในเงินคงคลัง ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วการจัดงบประมาณในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้เป็นงบประมาณแบบสมดุล แต่เป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยหลักฐานที่ชัดเจนคือ เงินคงคลังที่ลดลงในปีที่จัดงบประมาณสมดุล

ปีงบประมาณ 2548 : สิ้นปีงบประมาณ 2547 มีเงินคงคลัง 1.46 แสนล้านบาท และหนี้ตั๋วเงินคลัง 1.7 แสนล้าน แต่สิ้นปีงบประมาณ 2548 เงินคงคลังเหลืออยู่ 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ตั๋วเงินคลังยังอยู่ที่ 1.7 แสนล้านเท่าเดิม หรือหมายความว่าเงินคงคลังลดลง 4.2 หมื่นล้านบาท แสดงว่างบประมาณปี 2548 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล เพราะหากมีรายรับเท่ากับรายจ่าย รัฐบาลคงไม่จำเป็นต้องนำเงินคงคลังออกไปใช้จ่าย (เปรียบเหมือนการนำเงินออมออกมาใช้จ่าย เพราะรายจ่ายมากกว่ารายได้)

ปีงบประมาณ 2549 : สิ้นเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 เงินคงคลังลดลงเหลือ 3.6 หมื่นล้านบาท จาก 1.04 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2548 แสดงว่าเงินคงคลังลดลง 6.8 หมื่นล้านบาทภายในเดือนเดียว ขณะที่หนี้ตั๋วเงินคลังลดลงเพียง 1 หมื่นล้านบาท จนทำให้รัฐบาลต้องขออนุมัติ ครม. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เพื่อออกตั๋วเงินคลังเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2549 อีก 8 หมื่นล้านบาท เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าปีงบประมาณ 2549 อาจเป็นอีกปีหนึ่งที่ขาดดุลงบประมาณ ทั้ง ๆ ที่ตั้งงบประมาณแบบสมดุล

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเตรียมแปลงหนี้ตั๋วเงินคลังเป็นหนี้ระยะยาว สะท้อนให้เห็นอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง กล่าวคือรัฐบาลขาดความสามารถชำระหนี้ระยะสั้น จึงผลักภาระหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ระยะยาว ขณะที่การจัดงบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2550 เพื่อใช้คืนเงินคงคลัง แสดงให้ว่ารัฐบาลอาจไม่สามารถหารายได้มาใช้หนี้ตั๋วเงินคลังที่ออกเพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านบาท หรือคืนเงินคงคลังที่ลดลงเป็นจำนวนมาก ภายในปีงบประมาณ 2549 ได้

การที่รัฐบาลใช้จ่ายด้วยเงินคงคลังและออกตั๋วเงินคลัง แล้วอ้างว่าเป็นการทำงบประมาณแบบสมดุล เป็นการบิดเบือนตัวเลขเพื่อทำให้เข้าใจว่า รัฐบาลมีวินัยทางการคลังและมีฐานะการคลังที่มั่นคง แต่หากรัฐบาลยังใช้วิธีการนี้ต่อไปจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จนในที่สุดอาจเกินกรอบความมั่นคงทางการคลังและเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-01-23