ปัญหาของระบบประกันสังคมในประเทศไทย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบข้อเสนอให้มีการจัดทำแผนสวัสดิการลูกจ้าง โดยนำเงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มาใช้ในการจัดสวัสดิการเงินกู้ให้ผู้ประกันตน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากแก้ว นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการศึกษาแนวทางเชื่อมโยงกับการจัดตั้งธนาคารลูกจ้าง เพื่อใช้เป็นกลไกในการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน

ขอบเขตของระบบประกันสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน ครอบคลุมเฉพาะการประกันสุขภาพ การประกันชราภาพ และการประกันการว่างงาน ซึ่งเป็นความเสี่ยงและสาเหตุสำคัญ 3 ประการของความยากจนในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสังคมในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบประกันสังคมยังคงมีปัญหาจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและประชาชนในประเทศ อาทิ

ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ

ระบบประกันสังคมยังไม่ครอบคลุมกลุ่มคนยากจนและแรงงานนอกระบบ ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 95 ของประชากรทั้งประเทศ แต่ยังขาดหลักประกันชราภาพและหลักประกันการว่างงานถึงร้อยละ 67 เพราะกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันมีสมาชิกเพียง 8.2 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่กำลังแรงงานในประเทศมีถึง 36 ล้านคน

ทรัพยากรทางการเงินไม่เพียงพอ

ระบบประกันสังคมของไทยมีปัญหาความไม่เพียงพอของทรัพยากรทางการเงิน เพื่อใช้สำหรับการจัดสวัสดิการประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์ในกองทุนชราภาพที่ยังมีไม่พอที่จะรับมือกับปัญหาประชากรไทยที่แก่ตัวขึ้นในอนาคต

สิงคโปร์ ชิลี มาเลเซีย มีสินทรัพย์ในกองทุนชราภาพเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 50 - 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่สินทรัพย์ในกองทุนชราภาพของไทยมีเพียงร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จึงทำให้มีเพียงข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่ออมแบบสมัครใจเท่านั้นที่มีเงินออมชราภาพเพียงพอ แต่แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมยังมีเงินออมระยะยาวไม่เพียงพอ โดยในอนาคต ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับเงินบำนาญต่ำกว่าเส้นความยากจน

ทั้งนี้ การคาดการณ์พบว่า กองทุนชราภาพในระบบประกันสังคมจะเริ่มมีปัญหาการเงินในอีก 20-25 ปีข้างหน้า และจะประสบปัญหาล้มละลายในอีก 35-40 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบและคนยากจนที่ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมยามชราที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต

บริการมีคุณภาพต่ำ

การประกันสุขภาพภายใต้ระบบประกันสังคมยังมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกับการประกันสุขภาพของข้าราชการและเอกชน เนื่องจากเงินประกันสุขภาพรายหัวต่ำกว่า นอกจากนี้ การบังคับใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนไข้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่อุปทานทางการแพทย์ยังเกือบเท่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนด้วย ส่งผลทำให้คุณภาพการบริการของการประกันสุขภาพทั้งระบบคุณภาพต่ำลง

ระบบขาดประสิทธิภาพ

การกำหนดให้การว่างงานโดยสมัครใจได้รับการชดเชย จะทำให้กองทุนมีต้นทุนสูงขึ้น จนอาจทำให้ฐานะกองทุนไม่มั่นคง เพราะการชดเชยการว่างงานโดยสมัครใจอาจจูงใจให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น หากระบบสารสนเทศในการจัดหางานและการจัดฝึกอบรมคนตกงานขาดประสิทธิภาพ จะยิ่งทำให้ระยะเวลาของการว่างงานยาวนาน และทำให้โอกาสการตกงานสูงขึ้น

การแก้ไขปัญหาระบบประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และกล้าหาญ ซึ่งผมจะขอกล่าวในครั้งต่อไป

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-05-15