ปฎิรูปประกันสังคม?..ขยายประกันภาคบังคับ
ขอบเขตการคุ้มครองของระบบประกันสังคมในประเทศไทยครอบคลุมเฉพาะด้านการประกันสุขภาพ ประกันชราภาพ และการประกันด้านการทำงาน ระบบประกันสังคมของบ้านเรายังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ทรัพยากรทางการเงินมีไม่เพียงพอ บริการมีคุณภาพต่ำ และระบบขาดประสิทธิภาพทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบประกันสังคมของไทยมีปัญหาข้างต้น เกิดจากปัญหาด้านการจัดเก็บรายได้ การระดมทรัพยากรทางการเงิน การกระจายความเสี่ยง และการใช้หรือจัดสรรทรัพยากรทางการเงินของระบบประกันสังคม
หากระบบดังกล่าวยังไม่ได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไข ปัญหาความมั่นคงทางการเงินอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของประชาชน รวมทั้งอาจกลายเป็นภาระของต่องบประมาณแผ่นดินในที่สุด
แนวทางปฏิรูประบบประกันสังคมควรปรับปรุงไปพร้อมกับการปฏิรูประบบสวัสดิการทั้งระบบ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ระบบประกันสังคมรูปแบบใหม่จะต้องมีบริการที่มีคุณภาพสูง และมีความยั่งยืนทางการเงิน โดยเป้าหมายสุดท้ายเพื่อทำให้เกิดสวัสดิการสังคมสูงสุด
การปฏิรูประบบประกันสังคมในประเทศไทยควรใช้ทั้งหลักการประกัน (insurance) และหลักการกระจายใหม่ (redistribution) โดยที่ความสำเร็จของระบบนี้ขึ้นอยู่กับการนำประชาชนเข้าสู่ระบบประกันสังคม ผ่านการใช้มาตรการเชิงบวกและเชิงลบ
ขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งหมด
ปัจจุบันแรงงานนอกระบบมีจำนวนถึง 22.5 ล้านคน เปรียบเทียบกับแรงงานในระบบที่มีจำนวน 13.8 ล้านคน การทำให้กำลังแรงงานทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมภาคบังคับ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนมีหลักประกัน สามารถกระจายความเสี่ยง และสามารถระดมทรัพยากรจากทั้งสังคม มาเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการ และสร้างความมั่นคงให้แก่กองทุนได้
ภาครัฐควรพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อตรวจสอบสถานะของบุคคลในการเข้าสู่ประกันสังคม โดยประชาชนที่ไม่เข้าสู่ระบบจะไม่สามารถได้รับบริการใด ๆ จากหน่วยงานภาครัฐได้เลย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มต้นทุนของการไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคม
ผู้ที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินสมทบตามศักยภาพของแต่ละคน โดยกำลังแรงงานทุกคนจะต้องมาแจ้งรายได้และจ่ายเงินสมสบเข้าสู่กองทุนฯ ซึ่งอัตราเงินสมทบแปรผันตามรายได้ของแต่ละคน ทั้งนี้กองทุนฯจะต้องกำหนดอัตราเงินสูงสุดที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสบทบในแต่ละปี เพื่อให้ผู้มีรายได้สูงไม่ต้องจ่ายสมทบมากเกินไป ส่วนคนยากจนที่มีรายได้ต่ำมาก อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ หรืออาจจ่ายในรูปแบบอื่นแทนการจ่ายเป็นตัวเงิน
เพิ่มสิทธิพิเศษโดยรวมระบบสวัสดิการสังคมภาครัฐเข้าด้วยกัน
ในขณะเดียวกัน สิทธิพิเศษของการเข้าสู่ระบบประกันสังคมควรเพิ่มขึ้น โดยการรวมระบบสวัสดิการสังคมของภาครัฐเข้าด้วยกัน เช่น การประกันสุขภาพ การประกันความเจ็บป่วยจากการทำงาน การประกันชราภาพ การประกันการว่างงาน การสงเคราะห์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อจูงใจประชาชนให้รู้สึกว่าตนเองได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มค่าจนไม่ต่อต้าน รวมทั้งพิจารณาถึงการทำให้มีชุดของสิทธิพิเศษที่หลากหลายให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ เพื่อจูงใจให้ผู้ที่มีฐานะดียอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าสู่ระบบฯ
นอกจากนี้ ระบบประกันสังคมอาจผูกโยงกับสวัสดิการสังคมของเด็กและคนชราที่ไม่มีรายได้ โดยเด็กและคนชราที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมด้วย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่อยู่ในวัยแรงงานทุกคนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมากที่สุด
ทั้งนี้การนำแนวทางการปฏิรูปดังกล่าวมาใช้ ภาครัฐควรศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ต้นทุนการดำเนินการ การยอมรับของประชาชน ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคต การลดความเสี่ยงของประชาชนด้วยมาตรการอื่น ๆ ผลกระทบของการปฏิรูป และแนวทางการบริหารกองทุนอย่างเป็นอิสระจากรัฐ การจัดทำระบบขึ้นทะเบียนและระบบตรวจสอบรายได้ของผู้ประกันตน ฯลฯ
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-05-25
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 118 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 84 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 200 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 166 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 148 ครั้ง