แก้วิกฤตสังคมคนชราด้วยระบบการออมเพื่อวัยเกษียณ

ในปัจจุบันระบบสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้อัตราการตายของประชากรลดลง และควบคุมอัตราการเกิดได้มากขึ้นผ่านการวางแผนครอบครัว ประกอบกับค่านิยมการครองโสดที่นานขึ้นและไม่นิยมมีบุตรหลังชีวิตสมรส ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไม่มีประชากรรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาทดแทนประชากรรุ่นเก่าที่กำลังเข้าสู่วัยชราในสัดส่วนที่เหมาะสม โครงสร้างประชากรของไทยจึงกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ
ปัญหาของการก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุไม่ได้อยู่ที่สัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นแต่อยู่ที่สัดส่วนเงินออมสำหรับวัยเกษียณอายุที่มีแนวโน้มลดลงจนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต จากการศึกษาเฉพาะแรงงานในระบบของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ประชาชนมีเงินออมไม่มากเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในบั้นปลายของชีวิต แม้ว่าจะมีระบบประกันสังคมและระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วก็ตาม และยังมีแรงงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำงาน

ส่วนตัวหรือประกอบอาชีพอิสระที่ยังไม่มีระบบการออมมารองรับ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรหลังวัยเกษียณจะตกต่ำมากจนน่าเป็นห่วง และจะกลายเป็นภาระหนักของสังคมในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมคิดว่าการออมเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตผมจึงขอเสนอว่ารัฐบาลควรให้ความจริงจังในการส่งเสริมการออมเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประชากรของสังคมในวัยเกษียณ โดยมีมาตรการดังนี้

รัฐบาลควรมีนโยบายการออมภาคบังคับมากขึ้น
เช่น การออกมาตรการบังคับให้เจ้าของกิจการที่มีพนักงานหรือลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและสามารถโอนย้ายกองทุนดังกล่าวไปในที่ทำงานใหม่ได้โดยไม่ต้องออกจากกองทุนเดิม รวมทั้งเพิ่มอัตราเงินออมภาคบังคับให้มีเงินออมเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในยามชราภาพ เป็นต้น

รัฐบาลควรปรับปรุงระบบกองทุนต่าง ๆ ให้เกิดความยั่งยืน
ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และส่งเสริมให้เกิดการออมเพื่อการเกษียณอายุมากขึ้น โดยผ่านช่องทางแบบบังคับและแบบสมัครใจ ตลอดจนจัดตั้งกองทุนเพื่อการเกษียณอายุเพิ่มเติมเพื่อทำให้สามารถรองรับความต้องการออมเพื่อชราภาพอย่างเพียงพอ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการออมเพื่อการเกษียณอายุในกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อลดภาระของรัฐบาลในการดูแลคนชราในระยะยาว

รัฐบาลควรสร้างระบบเงินออมชราภาพของผู้ที่ขาดความสามารถในการออม
เช่น คนด้อยโอกาส คนยากคนจน ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น โดยอาจจัดสรรงบประมาณไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับผู้ที่ขาดความสามารถในการออม การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินจากผู้ที่มีฐานะ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีรายได้ทรัพย์สิน เป็นต้น หรือใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้ผู้มีฐานะบริจาคเงินเข้ากองทุน เพื่อใช้สำหรับการดำรงชีพของคนชราที่มีฐานะยากจน

การออมเพื่ออนาคตในวัยชราจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยที่รัฐบาลต้องเริ่มต้นทำให้เกิดการออมภาคบังคับโดยเร็วตั้งแต่เวลานี้ เพื่อป้องกันวิกฤตสังคมคนชรา และสร้างหลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้สูงอายุต่อไป
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-01-16