ข้อมูลข่าวสารสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย


แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ขยายขอบเขตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ให้สาธารณชนทราบ แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อมูลที่ประชาชนจะได้รับทราบภายหลังจากที่เลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแล้ว

หากประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล คุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อนที่จะตัดสินใจเลือก และสามารถติดตามผลการทำงานของ ส.ส. ส.ว. ภายหลังการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน และเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย โดยผมขอเสนอขั้นตอนดำเนินการดังต่อไปนี้

จัดตั้งศูนย์ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเพิ่มระเบียบให้ กกต. เป็นศูนย์ข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงานทั้งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละองค์กรที่ผ่านมา ข้อมูลการกระทำผิดทั้งที่ผิดกฎหมาย ระเบียบ หรือการกระทำไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดต่อมาตรฐานจริยธรรมอันดีของสังคม ข้อมูลประวัติการทำประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงอุดมการณ์ในการทำงานการเมือง

เผยแพร่ข้อมูลส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดย กกต. จัดพิมพ์และจัดส่งเอกสารข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ แผ่นพับ โปสเตอร์ และสื่ออินเตอร์เน็ต

เปิดเผยข้อมูลการทำงานของ ส.ส. ส.ว. โดยรัฐสภาเปิดเผยข้อมูลการทำงานของ ส.ส. ส.ว. รายบุคคลภายหลังการประชุมสภาในระยะเวลาที่กำหนด ได้แก่ การอภิปราย การตั้งกระทู้ถาม การออกเสียเพื่อรับหรือไม่รับร่างพระราชบัญญัติ การออกเสียงของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงรายงานการประชุมและมติที่ประชุม

ผมเชื่อว่าแนวคิดเหล่านี้จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับผู้สมัคร ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเลือกตั้ง รวมถึงส่งเสริมภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การติดตามผลการปฏิบัติงานของนักการเมืองที่ตนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานการเมืองแบบใหม่ผ่านการประยุกต์หลัก ธรรมาภิบาลให้เป็นจริงในภาคปฏิบัติครับ

แสดงความคิดเห็น
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-09-22