ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยพรรคเพื่อไทยเคยประกาศในช่วงหาเสียงว่าจะขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทภายในปี 2570 เมื่อต้นปี 2567 รัฐบาลได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำใหม่อยู่ระหว่าง 330 ถึง 370 บาท และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทสำหรับธุรกิจโรงแรมใน 10 จังหวัด นอกจากนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต1. แนวทางการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของประเทศต่าง ๆ
ก่อนที่จะพิจารณาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เรามาเริ่มต้นด้วยการสำรวจแนวทางการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ ประเทศที่ไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ และประเทศที่มีกฎหมายบังคับใช้ค่าแรงขั้นต่ำ
1.1 ประเทศที่ไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ
ประเทศในกลุ่มนี้ซึ่งคิดเป็นเพียง 10% ของโลก มักใช้วิธีการอื่นในการกำหนดค่าจ้าง เช่น การเจรจาต่อรองร่วมระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้าง หรือแรงกดดันจากประเพณีและความเห็นสาธารณะ ประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่มีกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำอย่างชัดเจน ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ การเจรจาต่อรองร่วมระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้างมีบทบาทสำคัญในการกำหนดค่าตอบแทนที่ยุติธรรม โดยตัวอย่างที่ชัดเจนคือ "โมเดลนอร์ดิก" ที่ใช้ในสวีเดน ซึ่งเน้นการเจรจาต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานกว่า 110 แห่งกับผู้แทนองค์กรเกี่ยวกับค่าแรงที่สมเหตุสมผล รวมถึงค่าล่วงเวลาด้วย
1.2 ประเทศที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ
ประเทศกลุ่มนี้มีการบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำอย่างแพร่หลาย คิดเป็น 90% ของประเทศทั่วโลก นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำในปี 1894 ทุกวันนี้ ค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในโลกในปี 2024 ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ในภูมิภาคอาเซียน มาเลเซีย (560 บาท/วัน) อินโดนีเซีย (503 บาท/วัน) และฟิลิปปินส์ (381 บาท/วัน) เป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่อวันสูงที่สุด ขณะที่ไทยอยู่ในระดับกลาง (330-370 บาท/วัน)
2. ค่าแรงขั้นต่ำควรมีหรือไม่?
การถกเถียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยทั้งสองฝ่ายในมุมมองแตกต่างกัน
2.1 ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรมีค่าแรงขั้นต่ำ
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเชื่อว่า การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดค่าจ้างจะมีข้อดีมากกว่า โดยมีเหตุผลหลักดังนี้
     1) ค่าจ้างขั้นต่ำทำให้คนตกงานมากขึ้น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นการแทรกแซงกลไกอุปสงค์และอุปทานของตลาด นายจ้างอาจต้องจ่ายค่าจ้างมากขึ้นโดยทันที โดยที่ผลิตภาพของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและนายจ้างอาจลดจำนวนแรงงานลง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ
      2) ค่าจ้างขั้นต่ำทำให้แรงงานขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะ เนื่องจากแรงงานจะได้รับค่าจ้างที่รับประกันอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงผลิตภาพที่ตนเองมี ซึ่งอาจขัดขวางความพยายามในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในประเทศ
      3) มีทางเลือกอื่นในการดูแลแรงงาน ในบางประเทศเช่น สิงคโปร์ มีนโยบาย Workfare ซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้แรงงานที่มีรายได้น้อย โดยวิธีนี้ไม่เป็นภาระแก่ภาคธุรกิจและไม่ส่งผลให้เกิดการว่างงานเหมือนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ
      4) ค่าจ้างขั้นต่ำทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น หากธุรกิจต้องจ่ายค่าจ้างมากขึ้น อาจพยายามชดเชยต้นทุนโดยการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะผลักภาระไปยังผู้บริโภคและทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
      5) ค่าจ้างขั้นต่ำทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่ำลง ค่าจ้างแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน หากต้นทุนแรงงานสูงขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับผลิตภาพของแรงงาน จะทำให้ธุรกิจและประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
2.2 ฝ่ายที่เห็นว่าควรมีค่าแรงขั้นต่ำ
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่สนับสนุนการมีค่าแรงขั้นต่ำมีเหตุผลดังนี้
     1) เพื่อให้แรงงานมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำช่วยให้แรงงานมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งป้องกันไม่ให้แรงงานถูกกดขี่และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าความเป็นจริง
      2) กระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การบริโภคที่มากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และสามารถเพิ่มการจ้างงานในระยะยาว
      3) ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำช่วยให้ประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนสามารถหลุดพ้นจากความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้
      4) เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำอาจมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น และเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว
      5) กระตุ้นนายจ้างในการพัฒนาทักษะแรงงาน การมีค่าแรงขั้นต่ำจูงใจให้นายจ้างพัฒนาแรงงานให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
      6) ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำช่วยสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
3. ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท
การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ดังนี้
      1) ผลกระทบด้านการลงทุนและความสามารถในการแข่งขัน หากประเทศไทยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย (560 บาท/วัน) และอินโดนีเซีย (503 บาท/วัน) ไทยจะมีค่าแรงสูงกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต ในขณะที่ประเทศเหล่านี้มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ไทยอาจเผชิญกับความเสียเปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากค่าแรงสูงอาจทำให้บริษัทต่าง ๆ เลือกย้ายการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ
      2) ต้นทุนธุรกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ผู้ประกอบการอาจต้องตัดสินใจว่าจะปรับราคาสินค้าหรือไม่ ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า 64.7% ของผู้ประกอบการจะปรับราคาสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ 35.5% เลือกที่จะไม่ปรับราคาสินค้า แต่จะลดปริมาณสินค้า ลดต้นทุนอื่น ๆ หรือจำนวนแรงงานลง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้เกิดภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นและการแทนที่แรงงานด้วยเครื่องจักร
      3) ผลกระทบต่อการจ้างงานและภาวะเศรษฐกิจ หากค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป อาจส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นและกำลังซื้อของประชาชนลดลง ตัวอย่างจากประเทศฝรั่งเศสในปี 2000 แสดงให้เห็นว่า เมื่อผลิตภาพแรงงานไม่เพิ่มขึ้นตามค่าแรง ความสามารถในการแข่งขันจะลดลง กระทบต่อการส่งออกและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
      4) ผลกระทบต่อค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมักนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ซึ่งเกิดจากการที่ธุรกิจต้องปรับราคาสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นได้แก่ เงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้สินค้าหรือบริการมีราคาแพงขึ้น และส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
      5) ผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดย่อม มักจะได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การศึกษาในอดีตเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แสดงให้เห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้การจ้างงานโดยรวมลดลง โดยเฉพาะในบริษัทขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันเพื่อดึงดูดแรงงานได้ดีเท่าบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การเพิ่มค่าแรงยังอาจทำให้แรงงานที่มีทักษะต่ำถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเพิ่มการว่างงาน
4. ข้อเสนอแนะในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ
      1) พัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างค่าจ้างแรงงาน เพื่อเปรียบเทียบผลดีและผลเสียอย่างละเอียด การศึกษาที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์และข้อมูลจริงซึ่งเศรษฐศาสตร์ช่วยได้มากจะช่วยให้กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นไปอย่างมีความเป็นธรรม และลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้ ยังช่วยลดความสงสัยในสังคมเกี่ยวกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำได้อีกด้วย
      2) ปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรทำควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภาพของแรงงาน โดยการเพิ่มทักษะและความสามารถให้ตรงกับค่าจ้างที่ได้รับ การปรับค่าจ้างควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบ เช่น การลดจำนวนการจ้างงานและการเพิ่มราคาสินค้าอย่างรวดเร็ว
      3) ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาฝีมือแรงงาน การกำหนดนโยบายส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันต่ำยังคงอยู่รอด และลดความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างของแรงงาน โดยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น
      4) สร้างตำแหน่งงานสำหรับแรงงานกึ่งทักษะและมีทักษะด้านงานวิจัย รัฐบาลควรกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีโอกาสเติบโต เช่น อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ การกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์จึงควรมีฐานข้อมูลวิจัยรองรับ ไม่ใช่เพียงความคิดเห็นทางการเมือง
      5) ศึกษาแนวโน้มความต้องการแรงงานของโลก ช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดหลักสูตรฝึกทักษะอาชีพและทักษะทางภาษาให้ตรงกับความต้องการ รวมถึงการส่งเสริมการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาว่างงานและเพิ่มโอกาสในการทำงาน
      6) ส่งเสริมการย้ายฐานการลงทุน สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ควรส่งเสริมให้ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานราคาถูก ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจยังคงอยู่รอดและจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
      7) การจัดสรรสวัสดิการเพิ่มเติม เช่น โครงการ Workfare ระบบสวัสดิการที่สนับสนุนแรงงานที่มีรายได้น้อย โดยการให้เงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งต้องแลกกับการทำงานหรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ ระบบนี้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานทำงานแทนการให้เงินช่วยเหลือโดยตรง
การพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่ละเอียดและความระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการเพิ่มค่าจ้างและการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างเหมาะสม
 

แหล่งที่มา : Mix Magazine
ต.ค. 2024

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando