FABAI Model: เทคนิคการคิดและตัดสินใจ
การตัดสินใจ เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่ต้องพัฒนาฝึกฝนให้ถูกต้องและแม่นยำ เพราะมนุษย์ต้องทำการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเล็กที่สุดอย่างการตัดสินใจว่าจะรับประทานอะไรจนถึงเรื่องใหญ่ที่สุด เช่น การบริหารองค์กร หรือบริหารประเทศ
ในมุมมองของผม การตัดสินใจที่ผิดพลาดของมนุษย์ มักเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่
- การทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ และมองเรื่องใหญ่เป็นเรื่องเล็ก
- ข้อสมมติ (assumption) ที่ยึดถือ ไม่สมจริง หรือเป็นการสมมติไปเอง
- การเอาความเห็นแก่ตนหรือความสะดวกของตนเป็นที่ตั้ง
ผมตกผลึกทางความคิดและวิเคราะห์ได้ว่า การเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการตัดสินใจ เพื่อให้มีการตัดสินใจที่ดีนั้น ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนจากความคิด คือ ต้องคิดให้ได้ 4 ทิศ ประกอบด้วย คิดเป็น คิดดี คิดบวก คิดครบ โดยต้องพยายามหาข้อมูลและความรู้เพื่อที่จะเห็นทางเลือกได้ทั้งหมด รวมถึงการมี objective function ที่ตรงกันระหว่างบุคคลกับบุคคล บุคคลกับชุมชนหรือสังคม และชุมชนกับชุมชน นอกจากนี้ ภูมิหลังและข้อจำกัดในชีวิตแต่ละคนก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน
จากองค์ประกอบการตัดสินใจที่ดีข้างต้น ผมจึงคิดค้น “โมเดล FABAI” ขึ้นมา เป็นโมเดลที่อธิบายการตัดสินใจของมนุษย์ ที่เรียงตามลำดับการใช้เหตุผลและข้อมูล โดยจะใช้โมเดลย่อยต่างๆ ประกอบกันเพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการตัดสินใจ ซึ่งอาจใช้ครบทุกโมเดลย่อยหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์และข้อจำกัดในขณะนั้น ทั้งนี้ โมเดล FABAI ประกอบไปด้วย
F – Fantasy Model: การตัดสินใจบนฐานจินตนาการ
เป็นการตัดสินใจที่ใช้เหตุผลหรือใช้ข้อมูลน้อยที่สุด เพราะเป็นการตัดสินใจแบบคิดไปเอง ไม่ใช้และไม่หาข้อมูล เช่น การตัดสินใจตามกัน (Abilene Paradox) ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริง เพราะคิดไปเองว่าคนอื่น ๆ ต้องการแบบนั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี โมเดลนี้ก็ยังมีประโยชน์ในกรณีที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เช่น การคิดค้นประดิษฐ์เครื่องบิน เพราะเป็นการยากที่จะคิดและเชื่อว่ามนุษย์จะขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าได้ ซึ่งหากไม่ใช้การตัดสินใจบนฐานจินตนาการ ก็คงไม่มีเครื่องบินในปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้ จินตนาการทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเช่นกัน
A – Anecdotal Model: การตัดสินใจที่อยู่บนฐานคำบอกเล่า
เป็นการตัดสินใจจากเรื่องที่ได้ยินมาจากคนอื่น มากกว่าข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ ผู้ตัดสินใจอาจได้รับข้อมูลจากบุคคลอื่น จากคำกล่าวอ้างของบุคคลอื่นว่า เคยพบเจอ หรือเคยมีประสบการณ์แบบนั้นแบบนี้ ซึ่งอาจไม่ถึงกับไม่มีพยานหรือไม่มีหลักฐานที่อ้างอิงได้ว่าจริง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นข้อมูลที่ถูกหรือผิดก็ได้ เพราะผู้ที่ให้ข้อมูลอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของประชากรทั้งหมด ถึงกระนั้น คำบอกเล่าอาจจะมีประโยชน์ หากทำให้เกิดความสงสัย และนำไปสู่กระบวนการหาข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงต่อไป
B – Black Box Model: การตัดสินใจแบบมีกล่องดำ
เป็นการตัดสินใจ โดยที่มีข้อมูลบางส่วนขาดหายไปและผู้ตัดสินใจอาจสังเกตเห็นผลหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าใจกลไกหรือกระบวนการเกิดของสิ่งนั้น ในความเป็นจริง ศาสตร์ในทุกสาขาวิชาล้วนมีกล่องดำทั้งสิ้น องค์ความรู้ในปัจจุบันอาจจะอธิบายได้บางขั้นตอน แต่บางขั้นตอนต้องใช้การตั้งสมมติฐานขึ้นมา เช่น การตัดสินใจในทางธุรกิจ บางครั้งผู้บริหารไม่ได้มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่ครบถ้วน แต่มีความจำเป็นต้องตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ที่มีอยู่ในเวลานั้น เป็นต้น
A – Analytical Model: การตัดสินใจบนฐานการคิดวิเคราะห์
เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลที่มีจำนวนมากและใช้เหตุผลมาก รวมถึงเข้าใจกระบวนการทำงาน การได้มาซึ่งคำตอบหรือผลลัพธ์ มีความลึกกว่าการตัดสินใจแบบมีกล่องดำ กล่าวคือ มีการพิจารณาตัวแปรต่าง ๆ ทั้งตัวแปรใหญ่และย่อย หาความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร จึงเป็นโมเดลที่นิยมใช้ในงานเชิงวิชาการ หรือการตัดสินใจที่มีผลกระทบในวงกว้าง เช่น การกำหนดนโยบายของรัฐบาล การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลายภารกิจที่ต้องทำ ต้องจัดลำดับความสำคัญของภารกิจต่าง ๆ และการตัดสินใจยังมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง เป็นต้น ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาถึงการตัดสินใจบนฐานการวิเคราะห์ได้ ย่อมต้องใช้การตัดสินใจตาม 3 โมเดลข้างต้นเป็นองค์ประกอบด้วย
I – Instituisight Model (inner model): การตัดสินใจบนอภิมหาญาณ (อภิมหาญาณโมเดล)
เป็นโมเดลการตัดสินในที่ผมคิดขึ้นมา เพื่อสะท้อนว่า คนตัดสินใจจากภายในตัวเรา ไม่ใช่เพียงแต่จากข้อมูลภายนอก มี 4 โมเดลย่อยดังกล่าวข้างต้นเป็นฐานและองค์ประกอบร่วม ซึ่งภายในที่กล่าวนี้ ก็คือ ญาณ ที่เกิดจากคำว่า instinct + intuition + insight เป็นคำว่า Instituisight อันประกอบด้วย อภิญาณ 3 (หลัก) + ญาณ 9 (ย่อย) โดยผมจะอธิบายในบทความนี้พอเป็นสังเขป และลงรายละเอียดต่อไปในบทความต่อ ๆ ไป
- อภิญาณทางกาย: สัญชาตญาณ (Instinct) เป็นญาณสัมผัสทางกาย โดยรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อภายในและการตัดสินใจของมนุษย์ ประกอบด้วย จักษุญาณ (Eye Instinct) โสตญาณ (Ear Instinct) ฆานญาณ (Nose Instinct) ชิวหาญาณ (Tongue Instinct) และผัสสญาณ (Touch Instinct)
- อภิญาณทางใจ: วิจารณญาณ (Intuition) เป็นญาณทางใจ แบ่งเป็น วิทยาญาณ (Intelligibility) ประกอบด้วย ความคิด (cognition) การตัดสินใจ (volition) อารมณ์ (emotion) และ สติญาณ (Internment) ประกอบด้วย สมาธิ (concentration) วิปัสสนา (meditation) กรรมฐาน (contemplation)
- อภิญาณทางจิต: อารยาญาณ (Insight) เป็นญาณทางจิต ประกอบด้วย ปัญญาญาณ (Intelligence) ซึ่งมีองค์ประกอบของ ศาสตร์ ผสม ศิลป์ และสัมปชัญญญาณ (Intellection) คือความเข้าใจ (Understanding) ที่โยงใยความเข้าใจภายนอกจนเป็นหนึ่งเดียวกับภายใน
ตัวอย่างการตัดสินใจบนอภิมหาญาณเช่น ตำรวจมีลางสังหรณ์ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ผู้บริหารสั่งระงับโครงการเนื่องจาก “รู้สึก” ถึงความผิดปรกติ นักธุรกิจเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีใครทำจะประสบความสำเร็จ เช่น สตีฟ จอบส์ ทำไอโฟน ไอพ็อด ตอนแรก หรือ ไดอาน่า แชมเปียน พนักงานสตาร์บัคส์ ที่แนะนำเครื่องดื่ม “Frappuccino” เพราะเชื่อว่าลูกค้าจะชื่นชอบ จนทำรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญในปีแรก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีข้อมูลและความรู้มากมายเพียงใด ใช้เหตุใช้ผล และทราบผลลัพธ์ที่เป็นไปได้แน่ชัด แต่ควรพึงระวังเสมอว่า การตัดสินใจผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นทุกคนควรพัฒนาทักษะการคิดและตัดสินใจอยู่เสมอ เพราะจะช่วยลดความผิดพลาด ความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะผู้นำ หากผู้นำตัดสินใจเป็น โอกาสที่จะขี่ยอดคลื่นสังคมแห่งความรู้และสังคมแห่งปัญญาในอนาคตย่อมเป็นไปได้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com