พัฒนาคุณภาพมนุษย์ ด้วยคุณภาพการศึกษาตามบริบทโลกอนาคต
“คุณภาพมนุษย์” เป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศพัฒนาแล้วมีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ในระดับสูงมากเมื่อวัดโดยดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI)ที่มีตัวชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ อายุขัยเฉลี่ย (Life expectancy) การศึกษา (Education) และรายได้ต่อหัวประชากร (Income per capita) ในปี 2014ประเทศ 10 อันดับแรกที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงที่สุด ล้วนเป็นสมาชิกในกลุ่มOECD ทั้งสิ้น และ เกือบทุกประเทศในกลุ่มOECD มีค่า HDI อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงมาก (ยกเว้นตุรกีกับเม็กซิโกอยู่กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง) โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงมากอยู่ที่ 0.875
ขณะที่ประเทศไทย มีคะแนนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงถือเป็นอันดับที่ 93 ของโลก(จาก 188 ประเทศ) และได้คะแนน 0.726 และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับ 11 อันดับ 31 อันดับ 62 ของโลก ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การพัฒนาคุณภาพมนุษย์มีหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวแปรที่ผมจะให้น้ำหนักในบทความนี้ ได้แก่ ตัวแปรด้านการศึกษา โดยมุ่งเน้นในมิติของการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของโลกอย่างไม่หยุดยั้ง ผมเชื่อว่า การศึกษาเป็นตัวกำหนดหรือชี้นำประเทศ ซึ่งผมมักพูดอยู่เสมอว่า “สถาบันการศึกษาคือมดลูกคลอดประเทศ” ดังนั้น หากเราต้องการรู้อนาคตของประเทศ เราสามารถสังเกตจากการศึกษาของเราวันนี้ ในการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ ราชภัฏศรีสะเกษวิชาการครั้งที่ 4 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผมได้บรรยายและนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษาและวิจัยของไทย 4.0 ซึ่งผมได้วิเคราะห์เปรียบเทียบการจัดการศึกษาแบบเดิมและแบบใหม่ที่พึงประสงค์หรือที่ควรจะเป็น โดยพบประเด็นสำคัญดังตาราง
ปัจจุบันการศึกษาของโลกกำลังก้าวสู่สังคมความรู้แต่การศึกษาของไทยเรายังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดังกล่าว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ยุคสังคมความรู้อย่างแท้จริง การจะเข้าสู่ยุคดังกล่าว ผมคิดว่าต้องเกิดการปฏิวัติความคิดขนานใหญ่ โดยผมได้วิเคราะห์และแบ่งการปฏิวัติความคิดครั้งสำคัญในอนาคตออกเป็น 4 ยุคในการอธิบายสังคม ประกอบด้วย
ประการที่ 1 ยุค 3.0 – การปฏิวัติทางสารสนเทศ (Thinking + Data = Information)
ยุคนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการนำความคิด 10 มิติมาผสมกับข้อมูลต่างๆ จนเกิดมาเป็นข้อมูลข่าวสาร โดยผมขอยกให้บิลเกตส์ (Bill Gates) เป็นสัญลักษณ์ของยุคนี้
ประการที่ 2 ยุค 4.0 – การปฏิวัติทางความรู้ (Thinking + Information = knowledge)
เช่นเดียวกัน ยุคนี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีผลลัพธ์ที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
ประการที่ 3 ยุค 5.0 – การปฏิวัติทางปัญญา (Thinking + Knowledge = Wisdom)
ยุคนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อนำความคิด 10 มิติมาผสมกับ ความรู้ ออกมาเป็น ปัญญา ซึ่งหมายถึง ความสามารถประยุกต์ความรู้ให้เหมาะสมถูกที่ ถูกเวลา ถูกโอกาส ถูกสถานการณ์ ถูกบริบท ถูกระบบแวดล้อม ฯลฯ ความสามารถในการประยุกต์ แสดงถึงความลึกซึ้งของความเข้าใจในสิ่งที่พิจารณาอย่างถ่องแท้จนก้าวลึกเลยระดับความรู้
ประการที่ 4 ยุค 6.0 – การปฏิวัติทางความดี (Thinking + Wisdom = Goodness/Virtue)
ความดีเกิดจากการนำความคิด 10 มิติมาผสมกับปัญญา มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แยกแยะเป็น จนเกิดเป็นความดีนั่นคือ
"การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ดังที่ผมเคยนำเสนอเป็นข้อคิดไว้ว่า “ตามหา ‘ความสุข’...จะพบความ ‘ทุกข์’ตามหา ‘ความดี’ ...จะพบ "ความสุข"ตามหา ‘การให้’ ...จะพบ ‘ความดี’ และตามหา ‘ความรัก’...จะพบ ‘การให้’”
ผมคิดว่า การจัดการศึกษาของเราต้องจัดตามคลื่นของการเปลี่ยนแปลง หากเราไม่เข้าใจว่าโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางใด เราจะจัดการศึกษาตกยุคเราสามารถเห็นตัวอย่างจำนวนมากของการศึกษาที่สะท้อนว่าไม่สามารถปรับตัวตามยุคสมัยเช่น มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นผู้นำในอดีตจำนวนมากตกยุค จนถูกมหาวิทยาลัยอื่นก้าวแซงหน้าไปเป็นต้น
ตรงกันข้ามกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่จำนวนหนึ่งที่สามารถปรับตัวอยู่เหนือคลื่นการเปลี่ยนแปลง และก้าวสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเป็นระยะเวลายาวนานเช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเหล่านี้กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคถัดไปแล้ว
ประเทศแคนนาดา ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษา (Best country for education) โดยพิจารณาจากการพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐและจำนวนการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แคนาดามีระบบการศึกษาคุณภาพสูงทั่วประเทศ โดยการศึกษาเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลครอบคลุมดูแลทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึง วิทยาลัยชุมชน สถาบันทางเทคนิค วิทยาลัยอาชีพ โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนมัธยม ค่ายฤดูร้อน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ประเทศเดนมาร์ก มีหลักสูตรที่มีเป้าหมายให้เยาวชนทุกคนมีมุมมองระดับโลก และมีเวลาบางช่วงสำหรับการศึกษาในต่างประเทศ รวมไปถึงมีโรงเรียนและหลักสูตรทางเลือก สำหรับเด็กที่พัฒนาช้าและไม่ถนัดเรียนหนังสือ เด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนในระบบ เด็กที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ และเด็กที่ไม่ถนัดเรียนวิชาการ ประเทศสวีเดน กำหนดให้โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายร่วมมือกับสถานประกอบการและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน การเลือกวิชาและอาชีพในอนาคต จะเห็นว่า ความก้าวหน้าการศึกษาโลกกับการศึกษาไทยในปัจจุบันยังแตกต่างกันมาก หากการศึกษาไทยต้องการก้าวไกลและก้าวหน้าต้องคิดนอกกรอบ ต้องเปลี่ยนการศึกษาจาก‘เรือนจำ’ เป็น ‘เรือนเพาะชำ’ ทางปัญญา
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com