AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? (3)

การเปิด AEC หนึ่งในสามเสาหลักประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการใกล้เข้ามาแล้ว เหลือระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ตั้งตารอคอย เพราะต้องการเห็นจุดเริ่มต้นสิ่งใหม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย บทความตอนนี้ ยังคงเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาประเทศไทย โดยผมได้วิเคราะห์ไว้ว่า AEC จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยในหลายด้าน และในครั้งนี้ ผมจะนำเสนออีก 2 ประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นที่ 4 การเปลี่ยนแปลงของแรงกดดันเกี่ยวกับคุณภาพของการพัฒนา 
 
การเปลี่ยนแปลงของแรงกดดันเกี่ยวกับคุณภาพของการพัฒนา หมายความว่า เมื่อเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ประเทศไทยจะถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงคุณภาพของการพัฒนา คือ เปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาในเชิงปริมาณสู่การพัฒนาเชิงคุณภาพ 
สาเหตุที่ทำให้ไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันเชิงคุณภาพของการพัฒนา คือ การแข่งขันจากประเทศต่าง ๆ ทั้งจากประเทศที่เติบโตด้วยการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและประเทศที่กำลังเติบโตด้วยการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity Growth) 
 
ประเทศที่เติบโตด้วยการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออก
 
เฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจรายได้ต่ำ (low income economy) เช่น กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ที่มีอัตราการขยายตัวสูง มีอัตราค่าจ้างราคาถูก และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน จึงยังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้มีกระแสการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยยิ่ง 
 
สำหรับประเทศที่กำลังเติบโตด้วยการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตรวม (TFP growth) ยกตัวอย่างประเทศจีน ในอดีตผลิตสินค้าราคาถูก มีคุณภาพต่ำ และมักเกิดจากการลอกเลียนแบบ แต่ปัจจุบัน จีนมีการพัฒนาและสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สะท้อนจากการที่มีผู้จบการศึกษาระดับสูงจากสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมถึงร้อยละ 43 และการมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านนี้เป็นร้อยละ 2.5 ของจีดีพีในปี 2563 
 
อีกประเทศหนึ่ง คือ อินเดีย ยักษ์ตื่นแห่งเอเชียที่มีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญอย่างโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีทั้งบุคลากรและมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ในอันดับ 6 ของโลก 
การแข่งขันจากทั้งสองกลุ่มประเทศนับเป็นแรงกดดันสำหรับประเทศไทย ที่จำเป็นจะต้องรักษาความยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ให้ได้ แต่จะเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง หากไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน 
 
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางกลุ่มบน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร และอาจต้องเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Nom ? tariff Barrier Measures: NTMs) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ แม้ AEC จะมีข้อตกลงในการลดภาษีและ NTMs ระหว่างกัน แต่ความคืบหน้าของการลด NTMs ค่อนข้างล่าช้า แรงกดดันเหล่านี้ทำให้การพัฒนาประเทศและการผลิตของไทยต้องเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพมากขึ้น

ประเด็นที่ 5 การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
AEC จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนจากการแข่งขัน (competition) สู่ความร่วมมือกันมากขึ้น (coopetition) ในอดีต ท่าทีและนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนมีลักษณะแข่งขันกัน เช่น การแข่งขันกันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการลดภาษีและให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ     เป็นต้น แต่ในอนาคต อาเซียนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยสองประการ
 
ประการแรก AEC จะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดร่วม (common market) โดยประเทศสมาชิกอาเซียนไม่เพียงแต่ลดภาษีและเปิดเสรีให้แก่กันเท่านั้น แต่ยังกำหนดอัตราภาษีกับประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน และยังมีแนวโน้มร่วมกันกำหนดท่าทีและนโยบายต่อประเทศนอกกลุ่มในแบบเดียวกัน
 
ประการที่สอง แนวโน้มการผลิตในอาเซียนอาเซียนจะเป็นเครือข่ายการผลิตข้ามประเทศ เนื่องจากการเปิดเสรีจะทำให้การผลิตในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อุปทานจะถูกจัดตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ เพื่อให้การผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานมีต้นทุนต่ำที่สุด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะย้ายไปอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในช่วงเริ่มต้นมากขึ้น เช่น ประเทศ CLMV ที่มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น จะต้องปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมีฝีมือมากขึ้น
 
อย่างไรก็ดี การเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดจาการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจากภาคที่มีผลิตภาพต่ำ คือ เกษตรกรรม ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูงกว่า คือ อุตสาหกรรม จนทำให้ระดับรายได้เพิ่มขึ้นเป็น ?เศรษฐกิจรายได้ปานกลางกลุ่มบน? แต่กระนั้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะติดกับดักรายได้ปานกลาง และไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงได้ เพราะเราขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขาดการพัฒนาความรู้ และขาดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ 
 
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะการอยู่เฉย ๆ เปรียบเหมือนการถอยหลังลงคลอง การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถใช้รูปแบบเดิมได้อีกต่อไป ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นแรงผลักดัน ตั้งเป้าหมายแข่งขันกับตัวเอง วันนี้จะต้องดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในประเทศไทยต้องสร้างและปลดปล่อยศักยภาพออกมาให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นที่โดดเด่นท่ามกลางนานาประเทศ ที่สำคัญ คือ ต้องสร้างมิตรมากกว่าศัตรู มียุทธศาสตร์และวิธีการวางตัว การเข้าไปสร้างความร่วมมือหรือข้อตกลงกับประเทศต่างๆ เพื่อหาช่องทางและเปิดโอกาสสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ 
 
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นผลจาก AEC ในประเด็นอื่น ๆ จะนำเสนอในบทความครั้งต่อ ๆ ไป
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
แหล่งที่มาของภาพ : https://info.examtime.com/files/2015/10/Growth-mindset.jpg