เปิดประตูสู่อาเซียน?ด้วยการคิดเชิงนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์
ในการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2558 นั้น ประเทศไทยต้องการกำลังคนรุ่นใหม่ที่มิใช่เป็นเพียงแต่เป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับสูง (ซึ่งคุณภาพการศึกษานั้นอาจได้มาตรฐานหรือตกหล่นจากมาตรฐานที่นานาชาติยอมรับ) หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญด้านภาษาเท่านั้น แต่คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่จะนำมาสู่การเป็นผู้นำอย่างได้เปรียบในการเปิดเสรีเวทีการค้าระดับภูมิภาคที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่ คุณลักษณะแห่งการเป็น ?นักคิดริเริ่มสร้างสรรค์?
อนาคตเป็นของผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าเสมอ ผู้ที่มี ?ความคิดริเริ่ม? และมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ย่อมมีโอกาสก้าวไปก่อน ก้าวไปไกล ก้าวไปสู่อนาคต ที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่า
ในทางตรงกันข้ามหากผู้นำหรือประชาชนในชาติ มีอุปนิสัยที่เรื่อย ๆ เฉื่อยชา พึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ รักษาระบบแบบอนุรักษ์นิยม ไม่คิดจะริเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าด้วยตนเอง หากไม่มีใครสั่งหรือไม่มีสถานการณ์บีบบังคับ ย่อมเป็นการยากที่จะปรับตัวเข้ากับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากที่จะไปสู่เป้าหมายวิสัยทัศน์ที่วางไว้เป็นแน่
การนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จและได้เปรียบในการเปิดเสรีอาเซียนนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างคนให้เป็นผู้ ?คิดดี คิดได้ ทำเป็น? คิดริเริ่มสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง แสวงหา แนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้มากขึ้น หรือ เรียกว่า การมีความคิดเชิงนวัตกรรม นั่นเอง
โดย การมีความคิดเชิงนวัตกรรม หมายถึง การคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และพยายามหาวิธีนำแนวคิดใหม่เหล่านี้ มาทำให้เป็นจริง นำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ การใช้วิธีการใหม่ การประยุกต์ใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น สร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น โดยใช้ต้นทุนลดลง ใช้ทรัพยากรลดลง เป็นต้น
ไม่เพียงคนที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารองค์กร แต่ทุกคนในประเทศชาติควรฝึกฝนนิสัยแห่งการคิดริเริ่มสร้างสรรค์นี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสการเป็นผู้นำ และโอกาสความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้เรียนรู้ในการเป็นนักคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์นวัตกรรมด้านต่างๆ เพื่อฉกชิงความได้เปรียบและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเอง ต่อประเทศชาติ และภูมิภาคโดยรวม
คำถามคือพ่อแม่ จะสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดริเริ่มให้กับลูกได้อย่างไร?
โดยเริ่มจากการมุ่งสร้างเสริมนิสัยรักการเรียนรู้
การอ่านหนังสือเป็นรากฐานและบ่อเกิดของความคิดใหม่ ๆ การคิดสร้างสรรค์ สถานศึกษาและชุมชนในต่างประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าต่างได้ให้ความสำคัญในการสร้างลักษณะนิสัยให้กับคนในสังคมให้รักการเรียนรู้ ตัวอย่างประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ มีสัดส่วนผู้อ่านหนังสืออยู่ในระดับที่สูงมาก ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทยมักอ่านหนังสือช่วงใกล้สอบ ซึ่งเป็นการอ่านเพื่อจดจำไปใช้ในการสอบมากกว่าการอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยสำนักงานสถิติทำการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชาชนชาวไทยพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก แต่มักชอบดูทีวี เดินห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้แหล่งเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตที่กำลังเป็นที่นิยมส่วนใหญ่กลับพบว่าถูกใช้ในการพูดคุยกัน ดูตัวอย่างสินค้า ฟังเพลง เป็นการหาความบันเทิงมากกว่าการแสวงหาความรู้ ซึ่งนับเป็นการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาความรู้ และหล่อหลอมการรักการแสวงหาความรู้ให้คนไทย
พ่อแม่ควรชี้แนะนำทางลูกในการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ อาทิ การจัดหาสื่อ หนังสือ มัลติมีเดีย แนะนำเว็บไซต์ โปรแกรมการเรียนรู้วิชาการด้านต่าง ๆ การท่องเที่ยวเชิงความรู้ ฯลฯ โดยเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว นอกจากนั้น พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นถึงการไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความรู้แต่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
คิดริเริ่มเป็นนิสัย สร้างสิ่งใหม่เป็นธรรมชาติ ฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะคิดริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจาก
?ฝึกคิดทำแม้ไม่มีใครสั่ง หรือรอให้สถานการณ์บีบบังคับแล้วจึงค่อยทำ แต่สอนให้ลูกฝึกฝนที่จะคิดวางแผน การคาดเดาและรับมือกับปัญหาหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเชิงรุก อย่างกระตือรือร้นตลอดเวลา ไม่ใช่รอให้สถานการณ์พาไปหรือเหตุการณ์ปัญหาเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจึงค่อยตามไปแก้ไข
?ฝึกคิดสร้างสรรค์ท่ามกลางสถานการณ์ที่คับขันหรือมีความจำกัดในด้านต่าง ๆ โดยพ่อแม่ฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนอย่างเต็มที่ มิใช่เข้าไปช่วยเหลือทันที ฝึกฝนให้ลูกเรียนรู้ที่จะประดิษฐ์ของเล่นต่าง ๆ ที่ตนเองอยากได้จากวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีในบ้าน ไม่ใช่เพียงซื้อสิ่งที่ลูกอยากได้ให้เท่านั้น สร้างค่านิยมใหม่ให้ลูกว่า ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ท่ามกลางความจำกัดนั้นเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่น่าภาคภูมิใจกว่าของเล่นสำเร็จรูปราคาแพงหลายเท่านัก
?ฝึกคิดทำอย่างดีเลิศ พ่อแม่ควรปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยแห่งการมีความกระตือรือร้น อยากเห็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม อยากทำให้ดีกว่าเดิม อยากให้เกิดผลลัพธ์ที่มีพลังมากกว่าเดิม ฯลฯ ไม่พอใจกับรูปแบบและวิธีการแบบเดิม ๆ ไม่พึงพอใจในผลลัพธ์เดิม ๆ ไม่แช่อยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ โดยการกระตุ้นความคิดลูกอยู่เสมอ อาทิ การใช้ชุดคำถาม ปลูกฝังให้เด็กคิดเสมอในทุกสิ่งที่ทำว่า ?ฉันจะทำให้ดีกว่าเดิมได้ไหม อย่างไร? ? ? ?มีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้ได้ดีมากกว่านี้??
เปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ในการเป็นผู้ฟังคำแนะนำที่ดี ไม่คิดว่าตนเองสมบูรณ์ดีแล้วแต่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อหามุมมองที่แตกต่าง โดยเรียนรู้ที่จะยอมรับคำตำหนิคำวิพากษ์ต่าง ๆ อย่างไม่นำมาเป็นอารมณ์ แต่รับมาด้วยความเข้าใจ เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป อาทิ การเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถวิพากษ์วิจารณ์ผลงานต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างไม่ปิดกั้น พร้อมทั้งต้องมีการเสนอแนะทางออกอย่างสร้างสรรค์ด้วยทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น ภายหลังจากที่ลูกได้ล้างรถตามที่ถูกมอบหมายเสร็จเรียบร้อย อาจมีการมาพูดคุยประเมินผลร่วมกัน ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร รถล้างสะอาดดีหรือไม่ หากไม่สะอาดเป็นเพราะเหตุใด อุปกรณ์มีปัญหาหรือไม่ เราควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้เสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ลูกได้ปลดปล่อยความคิดริเริ่มและพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
แนวทางการรับมือต่อการเปิดเสรีอาเซียนที่จะมาถึงนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกองค์กรภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จ อันเป็นกระบวนการของการหาแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ อันนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและสร้างผลกระทบเชิงบวกตามเป้าประสงค์ที่ตั้งใจไว้
สถาบันครอบครัว เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการปลดปล่อยศักยภาพในการคิดริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ของประชากรไทยรุ่นต่อๆไปในอนาคต ว่าจะออกมาได้อย่างมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด และประเทศไทยจะสามารถฉวยโอกาสความได้เปรียบในการเป็น ?ผู้นำแห่งอนาคต? ของภูมิภาคนี้ได้หรือไม่ พ่อแม่จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าตนเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการชี้ชะตาอนาคตของชาติครับ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
Tags:
Post date:
Tuesday, 10 February, 2015 - 15:13
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 60 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 185 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 158 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง