จัดการ "ตัวอิจฉา" นอกจอ
“ถ้าละครไทยไม่มี ‘ตัวอิจฉา’ จะเป็นอย่างไร?”...จากคำถามนี้ หลายคนคงตอบว่า ละครคงไม่สนุก ความรักของพระเอกนางเอกคงจะราบเรียบเกินไป ไม่มีใครมาแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ลอบทำร้าย และคงไม่ได้สะท้อนภาพ ‘นางเอก’ ซึ่งเป็นตัวแทนของ ‘คนดี’ ชนะ ‘ตัวอิจฉา’ ซึ่งเป็นตัวแทนของ ‘คนไม่ดี’ หรือ ธรรมะย่อมชนะอธรรม ในตอนจบให้เรียนรู้กัน
ตัวอิจฉาในละคร คือ ตัวแสดงที่รับบทบาทเป็นผู้มีนิสัยที่เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนดูอยู่ไม่ได้ เป็นตัวแทน ‘ด้านมืด’ ของมนุษย์ ซึ่งในโลกความเป็นจริง เราทุกคนอาจสวมบท ‘ตัวอิจฉา’ ได้อย่างอัตโนมัติ และสามารถ ‘ตีบทแตก’ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อไม่พอใจที่เห็นคนอื่น ‘ได้ดี’ กว่าในเรื่องที่ตนอยากจะมี อยากจะเป็น อยากจะได้..
ความรู้สึกอิจฉาเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องมีใครสอน คนที่ปล่อยให้อีโก้เข้าควบคุมจะถูกความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำได้ง่าย เพราะมักเอาจุดอ่อนของตัวเอง ไปเทียบกับจุดแข็งของคนอื่น จึงเกิดความรู้สึกไม่พอใจ
ให้เราลองสำรวจตัวเองดูว่า เราเป็นพวก ‘ขี้อิจฉา’ หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ...ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ถ้ามีเรื่องใดด้อยกว่าจะรู้สึกหงุดหงิด หัวเสีย ไม่พอใจ ...ไม่ชอบเห็นใครเก่งกว่า ดีกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่า ...รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในจุดอ่อน ข้อบกพร่องของตนเองเสมอ ...มักด่วนสรุปว่า ตนถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้ตรวจสอบ ...ชอบใช้คำพูดบั่นทอน ทำให้คนอื่นเสียกำลังใจ หมดหวัง (จริง ๆ แล้วกลัวเขาได้ดีกว่า) ...ชอบจับกลุ่มนินทาว่าร้าย ติเตียนคนที่มีดีกว่าตน ...มีความสุขเมื่อเห็นความตกต่ำ ล้มเหลวของผู้อื่น ฯลฯ
ถ้าเราเห็นคนอื่นได้ดี มีความสุข แล้วทนไม่ได้ แสดงว่า อีโก้อิจฉาริษยาครอบงำอยู่ ต้องจัดการเร่งด่วนหากไม่ต้องการดับความสุขและดับอนาคตของตนเอง
เข้าใจพลังความอิจฉา ความอิจฉา..ถ้าไม่ถึงขั้นริษยาจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง คือ สร้างความทุกข์ให้ตัวเอง แต่ยังไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น เช่น เมื่อเห็นคนที่สวยกว่า รวยกว่า เก่งกว่า ได้รับสิ่งที่ดีกว่า จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เพราะอยากมี อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง อาจนำไปสู่ พลังด้านบวก – เกิดความฮึกเหิมทะเยอทะยานพัฒนาตนเองให้เป็นอย่างคนที่ตนอิจฉา หรือ พลังด้านลบ – จมอยู่กับความน้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง บางคนอาจแยกตัวออกมา เพราะไม่อยากเห็นภาพคนที่ดีกว่าตน
อิจฉาเพื่อพัฒนา ไม่ริษยาเพื่อทำลาย เราอิจฉาได้ แต่ต้องเป็น ‘อิจฉาเพื่อพัฒนา’ คือ เมื่อเห็นคนที่ทำงานได้ดี รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ หรือมีจุดเด่นต่าง ๆ ที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จมากกว่า อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า อยากจะเป็นเช่นนั้น อยากทำเช่นนั้นได้บ้าง ก่อให้เกิดพลังผลักดันเชิงบวก นำคนเหล่านี้มาเป็น “ต้นแบบ” ที่เรายกย่องชื่นชม และเรียนรู้ เลียนแบบ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นเช่นนั้นบ้าง โดยประเมินให้เหมาะสมกับศักยภาพและเป้าหมายของเรา
ระวังอย่ายกระดับ ‘อิจฉา’ เป็น ‘ริษยา’ เมื่อใดก็ตามที่ความอิจฉายกระดับขึ้นเป็น ความริษยา จะเกิดความรุนแรงขึ้น คือ เกิดอาการ “ทนไม่ได้” เมื่อเห็นใครได้ดีเกินหน้าเกินตา และต้องการทำร้ายอีกฝ่ายให้ดูแย่เร็วที่สุด ไม่พึงพอใจถึงขั้นโกรธ เกลียด เคียดแค้น จนนำไปสู่การหาวิธีทำลายบุคคลนั้น ตั้งแต่ระดับเบา ๆ เช่น นินทาว่าร้าย ใส่ร้ายป้ายสี กลั่นแกล้ง ทำลายชื่อเสียง ไปจนถึงการลงมือทำร้าย ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ผู้นั้นสูญเสียสิ่งดีที่มีไป เข้าทำนอง “ถ้าฉันไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะมีใครได้”
เมื่อ อิจฉา + ริษยา เข้าครอบงำ จะมีแต่ เสียกับเสีย สิ่งแรกคือ
- เสียสุข เพิ่มทุกข์ มีคำกล่าวว่า “ความอิจฉาริษยาเป็นตัวการทำลายความสุขที่แท้จริง” เพราะเมื่อเราเอาจุดอ่อนไปเทียบกับจุดแข็งของคนอื่น ย่อมเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองไม่มี มองไม่เห็นจุดแข็งหรือส่วนดีของตนเอง ไม่เพียงทำลายความสุข ยังสะสมความทุกข์ให้ตัวเอง
- เสียเวลามีค่า เพื่อทำสิ่งไร้ค่า คนอิจฉาริษยาจะดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย คือ ตั้งใจทำให้คนที่ตนอิจฉาริษยานั้น ‘ตกต่ำ’ ลงให้มากที่สุด จึงใช้เวลาหมดไปกับการวางแผนและหาวิธีเลวร้ายต่าง ๆ เพื่อทำลายผู้นั้น เช่น เลื่อยขาเก้าอี้ แทงข้างหลัง ใส่ร้ายป้ายสี ฯลฯ แทนที่จะใช้เวลาทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยกันทำให้ตัวเอง ทีมงาน และองค์กรเจริญก้าวหน้า
- เสียหาย เพราะทำลายล้าง ใครที่ถูกไฟแห่งความอิจฉาริษยากัดกิน จะสร้างความเสียหายให้กับตนเองผู้อื่น และองค์กรได้อย่างมาก ความอิจฉาริษยาทำลายพลังทวีคูณของทีม ทำลายความสามัคคี ทำลายความสุข และแน่นอนทำลายความสำเร็จในภาพรวม
เห็นคุณค่าและยอมรับตัวเอง เราควรตระหนักว่า คนทุกคนมีคุณค่า มีเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เมื่อรู้ว่า ตัวเองมีค่าจึงไม่จำเป็นต้องอิจฉาใคร และยอมรับตัวเองได้อย่างไม่มีเงื่อนไขว่า เรามีส่วนดีที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ และมีส่วนด้อยอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุง จึงไม่มีเวลามานั่งสงสารตัวเอง ไม่มีประโยชน์ที่จะมาหมกมุ่นทำลายผู้อื่น แต่แข่งกับตัวเองให้ดีขึ้น โดยตั้งเป้าว่า วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ และต้องดีมากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ในวันต่อ ๆ ไป
โสกราตีส กล่าวไว้ว่า “ความอิจฉาริษยา คือ แผลอักเสบของจิตวิญญาณ” (Envy is the ulcer of the soul) เราควรเป็นคนหนึ่งที่ไม่มีแผลเช่นนี้เกิดขึ้นเลย เพราะคงไม่มีเรื่องใดที่มีคุณค่ามากพอ จนต้องยอมเสียเวลาอันมีค่าของชีวิตไปอิจฉาริษยาใคร....
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Post date:
Thursday, 8 January, 2015 - 15:39
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 185 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 159 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง