ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy)


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://m5.paperblog.com/i/55/556628/rwandan-knowledge-based-economy-illusion-L-EYjaoi.jpeg

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจโลก ... เวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง" ในงานสัมมนาการส่งเสริมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน ในการบรรยายครั้งนี้ ผมได้คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกไว้หลายด้าน แต่ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกสู่ "เศรษฐกิจฐานความรู้"

การเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้เป็นไปตามแนวคิด "คลื่นอารยะ 7 ลูก" ที่ผมได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ "สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ" ซึ่งกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมของโลกจากคลื่นลูกที่ 0 คือสังคมเร่ร่อน สู่คลื่นลูกที่ 1 - 3 คือ สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม และสังคมข้อมูลข่าวสารตามลำดับ และปัจจุบัน โลกกำลังจะเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 คือ สังคมแห่งความรู้

เนื้อหาในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการที่สะท้อนว่าโลกกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 ตามแนวคิดข้างต้น


1. การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การแข่งขัน

การแข่งขันทางเศรษฐกิจมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทำให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความเป็นเสรีมากขึ้น อีกประการหนึ่ง คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และจากหลายช่องทาง ทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลและทางเลือกในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ความสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับราคาและคุณภาพของสินค้า ทำให้ตลาดเข้าใกล้ "ตลาดแข่งขันสมบูรณ์" มากขึ้น

ในบริบทที่มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น การทำธุรกิจที่เน้นการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว อาจส่งผลทำให้ธุรกิจมีอัตรากำไรที่ต่ำลงหรืออาจต้องปิดกิจการลง เหตุเพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับธุรกิจอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจที่ตั้งอยู่ในเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทางออกสำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันด้วยราคาได้ คือ การเลิกกิจการ ย้ายฐานการผลิต หรือปรับปรุงการผลิตไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งใช้องค์ความรู้เป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน



2. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค

แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า จำนวนชนชั้นกลางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2-3 พันล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 66 ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น อาศัยอยู่ในเอเชีย การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนจะทำให้ความต้องการและรสนิยมในการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากการบริโภคเพื่อความจำเป็นของชีวิตและการเลือกซื้อสินค้าราคาถูก ไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และมีการบริโภคเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ มากขึ้น และการบริโภคเพื่อความต้องการขั้นสูงขึ้น

ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความหมายและความแตกต่างของสินค้าที่พวกเขาเลือกซื้อ เหตุเพราะพวกเขามีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ หรือแยกตัวให้แตกต่างจากคนอื่น กลยุทธ์การขายสินค้าสำหรับคนกลุ่มนี้จึงต้องเน้นการขายคุณค่าในตัวของสินค้า ขายงานบริการ ขายประสบการณ์ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการจำเพาะบุคคล (Innovative personalization) นอกจากนี้ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

3. การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์นวัตกรรมของโลก

รัฐบาลของหลายประเทศมีนโยบายปรับโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางที่ให้ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและสร้างนวัตกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้ก้าวพ้นจากสภาวะกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap)

โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์นวัตกรรม ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของโลกมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของประเทศพัฒนาแล้วมีส่วนแบ่งลดลง โดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมกันลดลงจากร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี ค.ศ. 1999 เหลือร้อยละ 66 ในปี ค.ศ.2009 ขณะที่ส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเพิ่มขึ้น โดยมีส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 39 ในปี ค.ศ.2009

ทั้งนี้ การทำวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนของรัฐบาล แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เอเชียเป็นเป้าหมายที่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการออกแบบและวิจัยในเอเชียถูกกว่าตะวันตก และเอเชียมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมาก

การเปลี่ยนแปลงทั้งสามประการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ แต่เมื่อหันกลับมาพิจารณาประเทศไทย เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างคลื่นสามลูกคือลูกที่ 1-3 โดยการเปลี่ยนผ่านจากคลื่นลูกที่ 1 ไปยังลูกที่ 2 และจากคลื่นลูกที่ 2 ไปยังลูกที่ 3 เป็นไปอย่างเชื่องช้า สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

ในวาระของการปฏิรูปประเทศ เราควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การยกระดับอุตสาหกรรมจากการผลิตตามคำสั่งไปสู่การออกแบบและการวิจัยและพัฒนามากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนควรคัดเลือกการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีนวัตกรรมมากขึ้น ประการสำคัญคือ การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีทักษะการคิด ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐนาวาไทยสามารถโลดแล่นอยู่บนยอดคลื่นลูกใหม่ได้อย่างมั่นคง

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.itbusiness.hu/data/cms162319/kutfejl.jpg