จัดการลูกน้อง "อีโก้สูง"
"คิดดีแล้วหรือครับหัวหน้า แบบนี้ไม่เวิร์คหรอก เอาวิธีผมดีกว่า"
"หัวหน้าจะไปรู้อะไร เคยเรียนมาหรือเปล่า ผมจบมาโดยตรงเลยนะ"
"เห็นไหม..นี่ครับฝีมือผม ผมว่าถ้าเป็นคนอื่นคงทำไม่ได้"
หัวหน้างานที่ต้องทำงานร่วมกับลูกน้องที่มีคำพูดประมาณนี้...คงเครียดน่าดู!
ที่ผ่านมา มีลูกศิษย์หลายคนมาปรึกษาผมว่า จะจัดการอย่างไรกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ชอบทำตัวแบบ ?เก่งขั้นเทพ? รู้ดีไปหมด เชื่อมั่นในตัวเองสูง โอ้อวด ชอบดูถูกคนอื่น..ไม่เว้น แม้แต่หัวหน้าตัวเอง ถ้ามีโอกาสจะชอบแสดงความเก่งเพื่อข่มหัวหน้า ยิ่งเป็นพวกที่จบมาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง หรือจบการศึกษาในระดับที่สูงกว่าหัวหน้าด้วยแล้ว หลายครั้งชอบทำหยิ่ง มั่นใจตัวเองเกินร้อย และชอบทำท่าดูแคลนคำสั่งหรือการตัดสินใจของหัวหน้าตน
ถ้ามีลูกน้อง "อีโก้สูง" แบบนี้ จะจัดการอย่างไรดี?
หัวหน้าต้อง "ไม่เสียศรัทธา" ในตัวเอง ลูกน้องอีโก้สูงที่ชอบข่ม ชอบอวด มักจะแสดงสีหน้าท่าทางที่สะท้อนว่าดูแคลนความคิดของเรา เมื่อสบโอกาสจะไม่รีรอที่จะยกตนข่มท่าน เพราะการทำเช่นนั้นช่วยเสริมอีโก้ให้พองโตขึ้น ซึ่งหากหัวหน้ายอมปล่อยให้เขาแสดงออกแบบนั้น เขาจะยิ่งเสื่อมศรัทธา ขาดความเคารพยำเกรง ไม่เชื่อฟังคำสั่ง และทุกสิ่งที่ทำจะไม่น่าเชื่อถือในสายตาเขาทันที
ดังนั้น ทางแก้คือ หัวหน้าต้องไม่คล้อยตามหากว่าไม่มีเหตุมีผลที่ดี ไม่หมดความมั่นใจในตัวเอง จำไว้ว่า คนอีโก้สูงมักไม่เก่งจริง และเป็นพวกจิตมีปัญหา เราจึงไม่จำเป็นต้องกลัวหรือใส่ใจ แต่ทำหน้าที่ของตนเองต่อไปให้ดีที่สุด โดยตระหนักความจริงว่า การเป็นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องหรือเรียนสูงกว่าใคร แต่สิ่งที่ต้องมีคือ ความเข้าใจกระจ่างในงานที่ทำ ต้องมีความคิดที่รอบคอบ มีความกล้าในการสั่งการและตัดสินใจ รวมทั้ง มีความรับผิดชอบในงานที่ทำอย่างดี
แยกแยะ ส่วนดี และ ส่วนเสีย คนที่มีอีโก้สูง มักจะถูกตัดสินว่า เป็นคนไม่ดี น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคม แต่เราควรมองลูกน้องที่มีอีโก้สูง ด้วยใจเป็นธรรม แม้ว่าเราจะไม่ชอบพฤติกรรมบางอย่างที่เขาแสดงออก แต่เราก็ยังคงเห็นคุณค่าในตัวเขา พยายามทำความเข้าใจ มองในส่วนดีที่มีอยู่ ต้องแยกแยะ ยอมรับในส่วนดี ในความสามารถ และเรียนรู้ที่จะใช้ส่วนที่ดีของเขาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เปิดโอกาสให้เขาแสดงศักยภาพเต็มที่ และเมื่อเขาทำดีเราก็ชมและให้กำลังใจ
ในมุมหนึ่ง หากเรามองว่า การมีลูกน้องที่เก่งกว่า น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้หัวหน้าต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ในมุมที่จะส่งผลเสีย เราก็ไม่ควรปล่อยไว้ แต่ควรแก้ไขและป้องกันมิให้เขาแสดงส่วนที่ไม่ดีออกมาให้มากที่สุด
ให้งานยาก - ทำให้เสียความมั่นใจ คนอีโก้สูงจะมั่นใจในตัวเองสูง ชอบเอาชนะ ชอบอวดว่าตัวเองเก่งกว่า เหนือกว่า เพื่อข่มคนอื่น ดังนั้นวิธีแก้ไข หัวหน้างานควรหาทางทำให้เขารู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้ว่าความล้มเหลวเป็นอย่างไร ด้วยการมอบหมายงานที่เขาไม่ถนัด งานยาก แล้วปล่อยให้เขาแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ส่วนเราก็คอยหาจุดบกพร่อง ทำหน้าที่ประเมิน และชี้ให้เห็นว่าตรงไหนที่ยังไม่ถึงมาตรฐาน และให้คำแนะนำที่เขาต้องฟัง เพื่อให้เขารู้สึกเสียความมั่นใจ ลดความหยิ่งลง เมื่อพบอุปสรรคและล้มเหลว และจะได้เรียนรู้ว่า ในการทำงานไม่มีใครเก่งเสมอไป ทุกเรื่องทุกเวลา ซึ่งจะช่วยให้สามารถยอมรับผู้อื่นได้มากขึ้น
สร้างเงื่อนไข ? ทำไม่ดีต้องรับผล คนทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยอีโก้ มักจะเป็นพวกไม่ฟังเหตุผล ไม่เชื่อฟัง ดึงดันเอาแต่ใจตนเอง แต่ถ้าสิ่งที่เขาทำนั้น มีผลต่อเงินผลดีผลเสียที่เขาจะได้รับ เขาจะฟังขึ้นมาบ้าง ดังนั้น หากเราสร้างตัวชี้วัด คุณสมบัติและประสิทธิภาพการทำงานที่พึงประสงค์ ให้เชื่อมโยงกับการขึ้นเงินเดือน การได้รับรางวัล เขาอาจจะปฏิบัติตัวดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเงื่อนไขนิสัยที่ส่งเสริมความสำเร็จของทีม อาทิ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น เคารพให้เกียรติผู้อื่น ช่วยเหลือสนับสนุนทีม ให้ความร่วมมือกับหัวหน้างาน ฯลฯ หากมีคุณสมบัติเหล่านี้ถึงมาตรฐานจะได้รับรางวัลพิเศษเพิ่ม หากไม่ถึงจะถูกตักเตือน เป็นต้น
ทางออกสุดท้าย - ให้ออกจากงาน ถ้าหลังจากใช้วิธีต่าง ๆ แล้ว ลูกน้องคนนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงนิสัยที่ทำให้เกิดความแตกแยก ความวุ่นวายในองค์กร ทำให้เกิดความเสียหาย หัวหน้าอาจต้องให้ฝ่ายทรัพยากรมุนษย์ส่งจดหมายเตือนให้เห็นถึงความผิดที่เกิดขึ้น และถ้าใช้ทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล ทางออกสุดท้าย การให้ออกจากงานอาจเป็นวิธีที่จำเป็น เพราะจะช่วยลดปัญหาที่เขาก่อขึ้น รวมทั้ง ช่วยให้คนอื่น ๆ เห็นแบบอย่างที่ไม่ดีและไม่ทำตาม อันจะช่วยลดพฤติกรรมที่ก่อปัญหาแบบเดียวกันได้
ในการทำงาน การจัดการปัญหาเกี่ยวกับคนเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการจัดการ ซึ่งหากหัวหน้างานสามารถทำได้สำเร็จ ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ "ภาวะผู้นำ" ในตัว ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า สามารถปกครองคนได้จำนวนมากขึ้น เมื่อดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต
Catagories:
Post date:
Monday, 16 June, 2014 - 16:17
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริมความร่วมมือไทย อินเดีย เพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 1,249 ครั้ง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,126 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 3 ประสิทธิผล
Total views: อ่าน 5,210 ครั้ง
เก่งจริง ต้องร่วมทีมได้
Total views: อ่าน 5,340 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 2 ประสิทธิการ
Total views: อ่าน 4,821 ครั้ง