มองประวัติศาสตร์ระบบการศึกษาฟิลิปปินส์ : อดีตถึงปัจจุบัน

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

กว่า 3 ศตวรรษที่ประเทศฟิลิปปินส์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองโดยจักรวรรดิสเปน (ค.ศ. 1571-1898)และเกือบ 5 ทศวรรษภายใต้สหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1898-1940) มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูประบบการศึกษาที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ภายใต้การปกครองของสเปนและสหรัฐที่มีนโยบายการศึกษาที่แตกต่างกัน

ถึงแม้ว่าสเปนและสหรัฐ ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในระบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์แล้ว แต่นโยบายการศึกษาของสเปนและสหรัฐ เป็นมรดกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในฟิลิปปินส์จนถึงปัจจุบัน

ในบทความชิ้นนี้ ผมจึงขออธิบายถึงนโยบายการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่อดีตในสมัยที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศอาณานิคมของสเปนและสหรัฐ จนถึงปัจจุบันที่ฟิลิปปินส์สามารถดำเนินนโยบายการศึกษาได้อย่างเสรีว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

นโยบายทางการศึกษาในยุคที่เป็นอาณานิคมของสเปน

หลังจากที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของสเปนอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1571 ระบบการศึกษาในฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากนโยบายของจักรวรรดิสเปน สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในสมัยนั้น คือ ระบบการศึกษาแบบคาทอลิก โดยศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาระบบการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยภายในฟิลิปปินส์ เพราะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสเปนในการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในฟิลิปปินส์

ปัจจัยที่ส่งผลให้ศาสนจักรโรมันคาทอลิกประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์คือ ปัจจัยด้านการถือครองที่ดิน เหตุเพราะศาสนาโรมันคาทอลิกถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากภายในฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลให้นักบวชนิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลและมีอำนาจมากในการปฏิรูประบบการศึกษา และประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกภายในฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ระบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี ค.ศ.1863 ผ่านกฎหมายการศึกษา (Educational Decree) ที่เน้นให้ระบบการศึกษาภายในประเทศมีความเป็นระบบ มีหลักสูตรที่มีมาตรฐาน และก่อตั้งโรงเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับประชาชนทั่วไปภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาของคนในประเทศยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ชายและผู้หญิง และความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยและยากจน

นอกเหนือจากศาสนาและระบบการศึกษาที่เป็นระบบ ภาษาสเปนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สเปนได้ทิ้งไว้แก่ประเทศอาณานิคม ซึ่งเห็นได้จากร่องรอยของมรดกทางภาษาสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาตากาล็อกที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาสเปน เช่นเดียวกับการตั้งชื่อคนในประเทศ ถนนหนทาง หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ที่ยังคงถูกเรียกขานเป็นภาษาสเปนจนถึงปัจจุบัน
นโยบายทางการศึกษาในยุคที่เป็นอาณานิคมของสหรัฐ

ในการปฏิรูประบบการศึกษาภายในฟิลิปปินส์ภายใต้อาณานิคมของสหรัฐ ยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐ คือ ความพยายามที่จะทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความเป็นอเมริกันมากขึ้น (Americanization) ผ่านนโยบายการศึกษาที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวอเมริกัน

ตลอดระยะเวลาที่สหรัฐปกครองฟิลิปปินส์ มีการสนับสนุนให้ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อลดบทบาทการใช้ภาษาท้องถิ่น โดยกว่า 5 ทศวรรษของระบบการศึกษาแบบอเมริกัน นักเรียนฟิลิปปินส์ต้องศึกษาบทประพันธ์ของกวีตะวันตกชื่อดังมากมาย อาทิ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ เป็นต้น ส่งผลทำให้ชาวฟิลิปปินส์ให้ความสนใจกับวรรณคดีท้องถิ่นน้อยลง และใช้ภาษาอังกฤษในชั้นเรียนและในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ถึงแม้ว่าสหรัฐ พยายามสอดแทรกวรรณกรรมตะวันตกในชีวิตประจำวันของชาวฟิลิปปินส์ แต่เมื่อเทียบกับยุคที่สเปนปกครองฟิลิปปินส์ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าชาวฟิลิปปินส์มีเสรีภาพในการแสดงผลงานด้านบทประพันธ์ กลอน และวารสารต่างๆ ในภาษาท้องถิ่นมากกว่าในยุคที่เป็นอาณานิคมของสเปน

อย่างไรก็ตาม ผลงานวรรณกรรมของชาวฟิลิปปินส์กลับไม่ได้รับการบรรจุในวิชาภาษาและวรรณคดีในชั้นเรียนเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลทำให้ระบบการศึกษาแบบอเมริกันแตกต่างจากระบบการศึกษาในยุคที่เป็นอาณานิคมของสเปนโดยสิ้นเชิง นั่นคือ ชาวฟิลิปปินส์ในยุคที่ถูกปกครองโดยสหรัฐ ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาประจำชาติของตัวเอง เพราะภาษาท้องถิ่นถูกใช้เป็นเพียงตัวช่วยในการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เท่านั้น อีกทั้งสหรัฐยังผูกขาดการใช้ภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา จวบจน ค.ศ. 1940 ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ญี่ปุ่นไม่ได้มีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาภายในประเทศฟิลิปปินส์

นโยบายการศึกษาภายหลังยุคที่เป็นอาณานิคมของสหรัฐจวบจนปัจจุบัน

ภายหลังจากที่ฟิลิปปินส์มีอิสระในการกำหนดนโยบายการศึกษาแล้ว ฟิลิปปินส์ยังคงให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา พิจารณาได้จากรัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์ฉบับปี ค.ศ.1987 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ภาษาทางการที่ใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนคือภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ได้กำหนดให้ใช้ภาษาทั้งสองในวิชาที่แตกต่างกันในการเรียนการสอน

ในปัจจุบัน นโยบายการศึกษาของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นไปในรูปแบบอเมริกันที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน ในขณะเดียวกันสถาบันทางการศึกษาหลายต่อหลายแห่งยังคงขึ้นตรงต่อระบบการศึกษาแบบคาทอลิก อาทิ มหาวิทยาลัย ดา ลา ซาน (De La Salle University) และมหาวิทยาลัย อาเตเนโอ เด มานิล่า (Ateneo de Manila University) เป็นต้น

โดยสรุป การที่นโยบายทางการศึกษาของฟิลิปปินส์ถูกควบคุมโดยประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างสเปนและ สหรัฐ ส่งผลดีและผลเสียแตกต่างกันไป

ผลดีสำหรับฟิลิปปินส์คือ ระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์มีคุณภาพ มีมาตรฐานและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ผ่านการปฏิรูปทางการศึกษาของสเปน รวมไปถึงการที่ประชาชนภายในประเทศมีระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน

ผลเสียภายใต้การปกครองโดยสเปนและสหรัฐ คือ การถูกลิดรอนอิสรภาพในการกำหนดทิศทางทางการศึกษาด้วยตัวเอง อาทิ ประชาชนฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลและกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้ระบบการศึกษาแบบคาทอลิก หรือการที่เอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมและภาษาท้องถิ่นได้รับการอนุรักษ์และให้ความสำคัญที่น้อยลงภายใต้ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน

บทเรียนสำหรับประเทศไทย :

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามรดกทางการศึกษาที่สเปนและสหรัฐได้มอบไว้แก่ฟิลิปปินส์ คือ ระบบการศึกษาที่เป็นระบบ และการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี และเกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายในประเทศ

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันไม่ได้ถูกวางรากฐานโดยประเทศจ้าวอาณานิคม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการศึกษาไทยรับอิทธิพลจากระบบการศึกษาตะวันตก ถึงกระนั้นการศึกษาไทยกลับไม่ได้มีคุณภาพทัดเทียมกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เนื่องจากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศเป็นเพียงวิชาหนึ่งที่เรียนเพื่อให้รู้แบบท่องจำหรือเป็นเพียงความรู้ ไม่ใช่การฝึกฝนทักษะเพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

การพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยนำมาซึ่งประเด็นที่ท้าทายว่า ระบบการศึกษาไทยควรให้น้ำหนักอย่างไรกับเป้าหมายสองประการ คือ ความพยายามอนุรักษ์ภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ และการพัฒนาคนให้มีความพร้อมสำหรับโลกในอนาคตที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ผมเห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับเป้าหมายหลังมากขึ้น

ทั้งนี้การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผมได้เสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะการศึกษาภาษาต่างประเทศไว้จำนวนหนึ่ง อาทิ การปรับปรุงโรงเรียนทั้งหมดให้เป็นโรงเรียน 2 ภาษา (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) และพัฒนาโรงเรียนบางส่วนให้เป็นโรงเรียน 3 ภาษา รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนทั้งประเทศให้มีคุณภาพขั้นต่ำเทียบเท่าโรงเรียนสาธิต รวมทั้งการพัฒนาหนังสือและสื่อการเรียนการสอนและบริบทแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่พรมแดนประเทศมีความสำคัญน้อยลงและโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ภาษาต่างประเทศจะเป็นทักษะที่จำเป็นมากขึ้น ระบบการศึกษาไทยควรได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่โดยให้น้ำหนักกับการเรียนภาษาต่างประเทศมากขึ้น เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองโลกและสามารถแข่งขันได้ และไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไปว่าจะทำให้คนไทยสูญเสียเอกลักษณ์หรือตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติทางอ้อม

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.iluvislam.com/wp-content/uploads/2011/04/110405studyabroad.jpg