แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2557

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

รายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2556 ไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สามขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลทำให้การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อย 0.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่านั้น และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกลดลงถึงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ที่หดตัวลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 การใช้จ่ายของครัวเรือนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.8 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนใช้จ่ายลดลงเป็นผลจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ ส่งผลทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนตึงตัวและจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

ภายใต้สภาวะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวต่อไปจากปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยสูญเสียไป และอาจทำให้นโยบายที่ภาคเอกชนคาดหวังว่าจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท) ล่าช้าหรือหยุดชะงักลง

ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะลงเอยอย่างไร รัฐบาลมีความจึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อฟื้นฟูการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผมเห็นว่ายังพอมีช่องทางที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2557 ได้ ดังต่อไปนี้

แนวทางแรก ดึงโครงการลงทุนเร่งด่วนออกจากโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท

การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงควรพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเสียใหม่ เพื่อแยกโครงการที่สามารถเร่งให้เกิดการลงทุนได้ก่อนออกจากโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากหากโครงการทั้งหมดยังอยู่รวมกันในแพ็คเกจเงินกู้ดังกล่าวอาจทำให้การดำเนินการได้ล่าช้า ทั้งนี้โครงการที่ควรเร่งให้เกิดการลงทุนคือโครงการหรือบางส่วนของโครงการที่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการลงทุนทั้งหมด แต่อาจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแล้วแบ่งผลประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยรัฐต้องกำหนดข้อตกลงที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม

แนวทางที่สอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค

การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงท้ายปีนี้อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ข้อมูลข่าวสารในด้านลบมากกว่าความเป็นจริง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจขอบเขตของพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างชัดเจน และสามารถแยกแยะความแตกต่างของสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยควรเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองในภูมิภาคอย่างเฉพาะเจาะจง ภาครัฐควรร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยวและสถานประกอบการท่องเที่ยวในการทำการตลาดท่องเที่ยวในภูมิภาค และร่วมมือกับสายการบินเพื่อให้มีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศไปยังสนามบินในภูมิภาคมากขึ้น

แนวทางที่สาม ใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน

ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงชะลอตัวลงทำให้ประชาชนและภาคเอกชนชะลอการใช้จ่ายหรือการลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองเห็นความเสี่ยงดังกล่าว จึงประกาศนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลอาจใช้นโยบายการคลังร่วมกับนโยบายการเงินของ ธปท.เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการลงทุนของเอกชน มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนำกลับมาใช้ คือการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จากปกติร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 0.01 เฉพาะในช่วงปี 2557 ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่ยังมีกำลังซื้อให้เร่งตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนมากขึ้น ถึงแม้ว่ามาตรการนี้อาจทำให้ระดับหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดอยู่แล้ว

แนวทางที่สี่ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่

ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และเน้นพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศและในภูมิภาคมากขึ้น เศรษฐกิจไทยต้องการอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากอุตสาหกรรมเดิมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศมีความสามารถในการแข่งขันลดลงหรือเป็นที่ต้องการของตลาดโลกน้อยลง เช่น สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ (เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะชะลอตัวลง แต่ความต้องการสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตเพิ่มขึ้น) เป็นต้น ผมจึงเสนอว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยในระยะสั้นควรดำเนินการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต หรือสินค้าที่เป็นนวัตกรรมและเป็นความต้องการของตลาดโลก อุตสาหกรรมแปรรูปรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น

เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปีข้างหน้า การพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศยังคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มการถอนตัวออกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ (QE) ด้วยเหตุนี้แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจึงเป็นความหวังในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่นโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น แต่ในภาวะเร่งด่วนเช่นนี้ ภาครัฐควรมีความเฉพาะเจาะจงและเป็นรูปธรรมด้วย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x385/cover/488034.jpg