กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวงแห่งภูมิภาคอาเซียนได้หรือไม่? (2)


แหล่งที่มาของภาพ : http://i1232.photobucket.com/albums/ff375/maximo2519/web25.jpg

     ในบทความครั้งที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงโอกาสของกรุงเทพมหานครในการเป็นเมืองหลวงของเอเชีย โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ การลงทุนและจัดตั้งสำนักงาน การบริการการท่องเที่ยว และการบริการด้านสุขภาพและความงาม

     แต่ถึงแม้ว่ากรุงเทพฯ มีโอกาสสูงที่จะเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค เนื่องด้วยความได้เปรียบในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และจุดแข็งทางเศรษฐกิจในบางด้าน แต่ก็มีอุปสรรคสำคัญบางประการที่อาจบั่นทอนโอกาสในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค หรือลดความสามารถในการรับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค อาทิ
     1) การแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน
     ในบรรยากาศของการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศสมาชิกต่างก็พยายามที่จะสร้างความพร้อมและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการเข้าเป็นประชาคมเดียวกัน หลายประเทศมีโอกาสเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในบางด้าน อาทิ สิงคโปร์มีโอกาสเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศและทางน้ำ ศูนย์กลางการจัดตั้งสำนักงานและบริการธุรกิจ ศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางบริการทางการศึกษา เช่นเดียวกับมาเลเซียที่มีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งสองประเทศถือว่าเป็นคู่แข่งของประเทศไทย (และกรุงเทพมหานคร) เพราะมีโอกาสบางด้านที่คล้ายกับประเทศไทย แต่ทั้งสองประเทศนี้มีความเข้มแข็งมากกว่าไทยในแง่ของการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และคุณภาพของบุคลากร
     ขณะที่อีกหลายประเทศในประชาคมอาเซียนมีจุดแข็งบางด้านที่แตกต่างจากไทยและพยายามพัฒนาความพร้อมของตนเองเพื่อใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียน เช่น อินโดนีเซียมีโอกาสสูงในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมาก ค่าจ้างแรงงานราคาถูก และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันอินโดนีเซียยังมีการปฏิรูปทางการเมืองและโครงสร้างสถาบันต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศเมียนม่าร์มีการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแข็งขันและมีการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนและสร้างการยอมรับจากเวทีโลก รัฐบาลเมียนม่าร์มีเป้าหมายจะเป็น ?แบตเตอรี่ของเอเชีย? โดยการดึงดูดการลงทุนด้านการสำรวจและผลิตพลังงาน ประเทศเมียนม่าร์ยังตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดสองแห่ง มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และค่าจ้างแรงงานต่ำมาก จึงเป็นยุทธภูมิที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก 
 
     2) โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ
     กรุงเทพฯ มีแนวโน้มเกิดความแออัดมากขึ้น เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทาง การขนส่ง และการท่องเที่ยวในภูมิภาค กิจการของต่างชาติจะเข้าตั้งสำนักงานในประเทศไทยมากขึ้น และชาวต่างชาติจะเข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น แต่โครงสร้างพื้นฐานภายในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองและจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชนที่ยังล่าช้ามาก ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาการจราจรอย่างรุนแรง และบั่นทอนศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ
     นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในระบบรางที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองต่าง ๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตนั้น ยังคงเป็นระบบรางเดี่ยว ทำให้การขนส่งทางรางล่าช้าและไม่เป็นไปตามตารางเวลา ในขณะเดียวกันปัญหาในระบบการบริหารจัดการการเดินรถไฟ และระบบการเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่นยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้ระบบรางไม่ได้เป็นระบบหลักในการขนส่งสินค้าของประเทศ แต่กลับเป็นการขนส่งโดยทางถนน ส่งผลทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะลดโอกาสของกรุงเทพฯ ในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้า การลงทุนและการจัดตั้งสำนักงานในอาเซียน
     
     3) การขาดทิศทางและมาตรการเตรียมความพร้อม
     กรุงเทพฯ ยังขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ตำแหน่งของกรุงเทพฯ ในอาเซียนคืออะไร ทำให้การพัฒนาเมืองขาดทิศทางที่ชัดเจน และขาดมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากประชาคมอาเซียน ทิศทางการพัฒนาเมืองจึงไม่ได้เกิดจากการวางแผนหรือเตรียมการล่วงหน้า ความตื่นตัวในการเตรียมพร้อมเกิดขึ้นเฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่หรือหน่วยงานที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศอยู่แล้ว แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและประชาชนทั่วไปไม่รู้ข้อมูล ไม่ทราบถึงโอกาสและผลกระทบ สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจในกรุงเทพฯได้รับผลกระทบรุนแรง หรือไม่ได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่
     ข้อจำกัดในการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ คือ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครมีอำนาจจำกัดในการกำหนดทิศทางและดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจและรับผิดชอบในการพัฒนา กทม.ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงาน แต่การทำงานของหน่วยงานเหล่านี้กลับขาดการประสานงาน ต่างคนต่างทำ ยิ่งไปกว่านั้นหากมีความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกลางและผู้ว่าราชการ กทม.จะมีผลทำให้การผลักดันนโยบายการพัฒนา กทม.ไม่ราบรื่นและขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับการเมืองของประเทศที่ขาดเสถียรภาพทำให้นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา กทม.ไม่ต่อเนื่องและไม่มีทิศทาง
     นับว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลและว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ต่างพูดประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ ผมจึงหวังว่าการพัฒนา กทม.จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อทำให้ กทม.เป็นดั่งเมืองที่ผมฝันไว้ แม้ว่าความฝันนี้ดูจะเลือนรางท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com