มุมมองต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัย Center for Strategic and International Studies (CSIS) ได้เผยแพร่งานวิจัยชื่อ U.S. Force Posture Strategy in the Asia Pacific Region: An Independent Assessment เป็นผล
งานวิจัยชิ้นสำคัญที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ มอบหมายให้ศึกษาแผนการจัดวางกำลังพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์และเชิงปฏิบัติลงรายละเอียดถึงระดับหน่วยกำลังต่างๆ ของสหรัฐ ที่ประจำการในภูมิภาคนี้
ที่ประจำการในภูมิภาคนี้ ในแง่ยุทธศาสตร์ สองสิ่งที่สหรัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (บริเวณคาบสมุทรเกาหลีกับประเทศญี่ปุ่น) กับเส้นทางเดินเรือที่ผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจีนเป็นตัวแปรสำคัญก่อกระตุ้นความไร้เสถียรภาพ และเป็นที่มาของนโยบายเพิ่มกำลังทางเรือในแปซิฟิก จาก 50/50 มาเป็น 60/40 พร้อมด้วยอาวุธรุ่นใหม่ล่าสุด เช่น เครื่องบินรบ F-35 Joint Strike Fighter ที่มีสมรรถนะสูงกว่าเครื่องบินขับไล่ในยุคที่ 4 อย่างมาก รวมทั้งส่งเครื่องบินลาดตระเวนปราบเรือดำน้ำรุ่นล่าสุดรุ่น P-8 มาประจำการแทนเครื่องบินรุ่นเก่า
อย่างไรก็ตาม รายงานฯ ชี้ว่า กองกำลังที่ประจำการในภูมิภาคนี้ยังน้อยเกินกว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตต่อเนื่องเอื้อต่อการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย
จากรายงานฯ วิเคราะห์ได้ว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ที่สหรัฐ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นลำดับแรก กองกำลังสหรัฐ กำลังปรับเปลี่ยนโยกย้ายกำลังพล เพื่อให้เป็นไปตามกับยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ โดยเป้าหมายทางยุทธศาสตร์สหรัฐ ต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถ้าจะกล่าวให้ชัดคือ การรักษาหรือเพิ่มพูนอิทธิพลสหรัฐต่อเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาค มีอำนาจการเจรจาต่อรองที่เหนือกว่า เพื่อให้เอื้อต่อผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจกับประเทศในแถบนี้
สหรัฐ หวังจะให้ประเทศพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแรงเสริมกำลังฝ่ายสหรัฐ แต่หนทางสู่เป้าหมายยังดูห่างไกล ไม่ง่ายที่ทุกประเทศจะเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด พัฒนาการความร่วมมือจำต้องอาศัยเวลากับบริบทที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความ ร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไม่นับข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ผลประโยชน์แห่งชาติที่แต่ละประเทศมุ่งรักษาไว้
แม้สหรัฐจะมองว่าจีนอาจเป็นภัยคุกคาม แต่ความสัมพันธ์ของสหรัฐ กับจีน มีทั้งการพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) กับการมองว่าเป็นภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่นเดียวกับพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และอินเดียต่างหวังให้สหรัฐเข้ามาถ่วงดุลจีนในย่านนี้มากขึ้น แต่ไม่มีประเทศใดที่เลือกอยู่ข้างสหรัฐแบบสุดขั้ว ทุกประเทศต่างมีสัมพันธ์กับจีน เช่น เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ ทั้งด้านเศรษฐกิจกับความมั่นคง แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างมาก สินค้าเกาหลีใต้ส่งออกไปจีนมากที่สุด สิงคโปร์ยอมให้กองทัพเรือสหรัฐ ใช้เป็นจุดเติมเสบียงเติมเชื้อเพลิง เพราะต้องการสมดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจ เป็นต้น
ในกรอบภาพรวมอาเซียน สหรัฐ เห็นความสำคัญและความจำต้องที่จะเข้าเกี่ยวพัน เพราะอาเซียนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่เพียงเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุนที่สหรัฐ มีผลประโยชน์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่จีนหรืออินเดีย เส้นทางเดินเรือที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกากับทะเลจีนใต้ที่อยู่ในพื้นที่ของ อาเซียน ทำให้อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นในดุลยภาพอำนาจของเอเชียแปซิฟิกเมื่อประเทศ ในกลุ่มนี้มีปัญหากับจีนเรื่องเกาะแก่งต่างๆ สหรัฐจึงเห็นควรที่จะสอดมือเข้าช่วยเหลือทั้งด้านการทหารกับการทูต และเห็นว่าอาเซียนเองก็ปรารถนาให้สหรัฐเข้ามาถ่วงดุลจีนในระดับที่จีนรับได้
ส่วนประเทศไทย ไทยกับสหรัฐดำเนินการซ้อมรบร่วมภายใต้ชื่อคอบร้าโกลด์มานานแล้ว การซ้อมรบเมื่อปี 2012 มีทหารเข้าร่วมถึง 1 หมื่นคนจากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียยึดแนวทางชาติไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด มีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐไม่มาก แต่เพิ่มขึ้นทีละน้อย
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อการเพิ่มหรือการคงกองกำลังสหรัฐ คือ เรื่องงบประมาณ มีความเป็นไปได้สูงว่างบประมาณกลาโหมจะถูกตัดทอนในตลอด 10 ปีข้างหน้า ก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายเพิ่มกำลังทางเรือมาอยู่ที่แปซิฟิก จาก 50/50 มาเป็น 60/40 ว่าเป็นการสร้างกองเรือเพิ่ม การย้ายกองกำลังจากที่อื่นมาเพิ่มที่เอเชีย หรือเป็นการลดจำนวนรวมเพื่อทำให้สัดส่วนที่เอเชียเพิ่ม งบประมาณที่จำกัดยังส่งผลต่อความยืดหยุ่นความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของ หน่วยรบต่างๆ ด้วย กล่าวโดยสรุป กองทัพสหรัฐมีแรงตึงเครียดระหว่างเป้าหมายกับการทำให้บรรลุเป้าหมาย จากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณกลาโหมที่มีแนวโน้มลดลง กับ ความพยายามให้พันธมิตรและมีบทบาทมีส่วนรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องประกันสันติภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายใต้หลักคิดของ สหรัฐแต่พึงระวังในการรักษาดุลอำนาจ เพราะการที่ฝ่ายหนึ่งเพิ่มน้ำหนักเพิ่มกำลังรบ จะกระตุ้นให้อีกฝ่ายต้องกระทำตามเพื่อรักษาดุลอำนาจ การวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศด้วยมุมมองความมั่นคงมักจะเต็มด้วยความ ตึงเครียด แต่หากมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบองค์รวม สหรัฐ กับประเทศอื่นๆ เกือบทั้งหมดย่อมแสวงหาสันติภาพเสถียรภาพร่วมกันมากกว่า เช่น สหรัฐตระหนักว่า ตนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์กับจีน จึงส่งเสริมให้กองกำลังทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์อันดี มีการติดต่อกัน และร่วมดูแลรักษาความมั่นคงในภูมิภาค แม้ในอีกด้านหนึ่งจะถือว่าเป็นภัยคุกคามก็ตาม ประเทศทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทย จึงควรใช้กองทัพอย่างระมัดระวัง โดยตระหนักถึงสมดุลอำนาจ ไม่ให้ต่างประเทศมองว่ากำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรง และควรใช้เพื่อการป้องปรามเป็นหลัก เพราะแต่ละประเทศย่อมต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิต คุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนของตน เพื่อความมั่นคงที่มีเสถียรภาพที่ยั่งยืน
อุปสรรคสำคัญต่อการเพิ่มหรือการคงกองกำลังสหรัฐ คือ เรื่องงบประมาณ
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com