การประกอบการเพื่อสังคม: กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อรังสรรค์สังคม



* ที่มาของภาพ http://www.thaimtb.com/webboard/

ในสังคมยุคปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะมองปัญหาในเชิงบุคคล เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ปัญหายาเสพติด ปัญหาการพนัน เป็นต้น ในเชิงภาพรวมของสังคม เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากร สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

หากแต่การคาดหวังให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาพบว่า ยังคงมีข้อจำกัดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการแก้ไขปัญหา อาทิ ภาครัฐที่ยังติดขัดเรื่องระบบการบริหารจัดการที่ช้า เพราะยึดกฎระเบียบองค์กร ในส่วนของภาคธุรกิจจะเน้นเรื่องผลกำไรขององค์กรมากกว่าการเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนมีข้อกำจัดที่ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน

ด้วยเหตุนี้ หลายปีที่ผ่านมาได้เกิดแนวความคิด การส่งเสริมให้เกิดการวิสาหกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprises and Social Entrepreneurs) ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีบทบาทแก้ไขปัญหาสังคมด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์ และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แนวคิดนี้จึงเป็นการดึงเอาจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมารวมกัน เพื่อลดจุดอ่อนของแต่ละองค์ประกอบ ก่อเกิดการขยายตัวของแนวคิดอย่างกว้างขวางทั่วโลก เห็นได้จาก

การตื่นตัวของภาคประชาชนในการเข้าร่วมรังสรรค์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กรภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในลักษณะของการบริจาค และอาสาสมัคร (voluntary work) เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเนื่องมาจากความเข้มแข็งของภาคสังคมในประเทศเหล่านี้ จึงทำให้เกิดการจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนงานด้านสังคมเป็นอย่างมาก

การเห็นความสำคัญจากภาครัฐ ในประเทศอังกฤษ สมัยที่นาย โทนี่ แบลร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเข้ามาดูแลงานด้านสังคมโดยตรง รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นแผนเพื่อการพัฒนาสังคมมาให้รัฐบาล หากเห็นว่าเหมาะสม สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง รัฐจะนำมาประยุกต์ใช้

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหน่วยงานเพื่อสังคม
ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนหน่วยงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่น ประเทศอินเดียที่มีองค์กรภาคประชาชนมากว่า 1 ล้านองค์กร ประเทศบราซิลมีองค์กรภาคประชาชนที่จดทะเบียน เพิ่มขึ้นเป็น 400,000 องค์กร จากปี 1990 ที่มีเพียง 250,000 องค์กร ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนองค์กรภาคประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 464,000 เป็น 734,000 องค์กร เป็นต้น

การบรรจุเรื่องผู้ประกอบการเพื่อสังคมเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยดุ๊ก มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นต้น
โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้นมีการจัดตั้ง Social Entrepreneurship Collaboratory (SE Lab) ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ เปิดโอกาสให้นักศึกษาคิดโครงการที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้จริง หรือจากจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่สนใจเรื่องการประกอบการเพื่อสังคมที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 4 ปีก่อนถึงเท่าตัวโดยในปัจจุบันนักศึกษาที่ลงเรียนวิชานี้มากกว่า 300 คน

จากที่กล่าวมาหากประเทศไทยจะก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนทิศการดำเนินงานจากที่ผ่านมา มาเป็นการใช้การประกอบการเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือหลัก

การเริ่มต้นแนวคิดเรื่องการประกอบการเพื่อสังคม ภาครัฐจำเป็นผลักดัน แนวคิดเรื่องการประกอบการเพื่อสังคมให้เกิดความเข้าใจอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมให้เกิดในภาคปฏิบัติ อาทิ สนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้นในสังคม

นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างการศึกษาที่เน้นเรื่องการประกอบการเพื่อสังคมโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการให้การสนับสนุนผู้ที่ต้องการจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการทางสังคม และการจัดตั้งศูนย์การประกอบการเพื่อสังคม เพื่อเป็นแหล่งที่มาให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่ผู้ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการประกอบการเพื่อสังคม

การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อยู่ในรูปแบบมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ต้องพึ่งพิงเพียงภาครัฐเป็นหลักเช่นปัจจุบัน
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2550

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-08-29