ผู้นำสหรัฐฯ มุ่งพัฒนาและแก้วิกฤตการศึกษาของประเทศ

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นโยบายและมาตรการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอันดับแรก ภายใต้ความคาดหวังและการเฝ้ามองการทำงานของนายบารัคว่า จะสามารถกู้วิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสหรัฐฯ และโลกได้หรือไม่ แต่ถึงกระนั้นโอบามายังให้ความสำคัญกับปัญหาใหญ่อีกประการที่สำคัญ การพัฒนาระดับคุณภาพการศึกษาของสหรัฐฯ ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต

แนวทางสำคัญที่โอบามาได้ให้ความสำคัญและเตรียมมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วน การลดอัตราการออกกลางคันของผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา การกระจายอำนาจจากรัฐาบาลกลางสู่รัฐบาลท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยลดการแทรกแซงด้านการศึกษาจากรัฐบาลกลาง ทั้งยังให้การรับรองว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะทำหน้าที่เพียงดูแลภาพรวมมาตรฐานการศึกษาของชาติ และให้อิสระแก่มลรัฐกำหนดรูปแบบการทดสอบทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์ และให้อิสระโรงเรียนมากขึ้น การดึงบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นครู โดยเน้นกลุ่มคนเก่งเข้าสู่การเป็นครู รวมทั้งการมีมาตรการจะเพิ่มเงินเดือนให้ครูในระดับต่าง ๆ การเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยอย่างเป็นระบบ การเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และการพัฒนากิจกรรมหลังเลิกเรียนเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นมากขึ้น และการเปิดโรงเรียนภาคฤดูร้อนสำหรับเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น

ทั้งนี้เบื้องหลังการกำหนดนโยบายและมาตรการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนายโอบามาคือ การระดมความคิดเห็นจากครู อาจารย์ นักการศึกษา และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากทั่วสหรัฐฯ รวมถึงการดึงผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษาเข้ามาร่วมงาน เพื่อหาแนวทางพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มคน รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศ

กรณีของประเทศไทย ปัญหาด้านวิกฤตทางการศึกษายังคงปรากฎอยู่ การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ ผมจึงเห็นว่าไม่ว่าผู้ใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลจะอยู่นานหรือไม่ จำเป็นต้องมีการวางระบบและรากฐานการพัฒนาการศึกษาไทย ที่มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ในระยะสั้น ระยะกลางและระยาวอย่างเป็นระบบ ประการสำคัญควรมีภาคีที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมกำหนดแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษา มิได้เป็นการกำหนดจากแกนกลางเท่านั้น และนำเอาบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาใช้ มองให้ทะลุถึงรากปัญหาและหาแนวทางเชิงรุกในการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

admin
เผยแพร่: 
พิมพ์ไทย
เมื่อ: 
2009-04-23