สภาฯ ของผู้แทนฯอันทรงเกียรติ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
ผลพวงจากการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. ที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ มีการจัดเวทีสัมมนาพูดถึงความไม่เหมาะสมในการใช้ภาษาของ ส.ส. ทั้งภาษาพูด และภาษาท่าทาง โดยนักวิชาการ นักเขียน ราชบัณฑิต และรัฐมนตรีจากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคม
การสัมนาครั้งนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาของสมาชิกสภาฯ ทั้งการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง อาทิ ไม่มีคำควบกล้ำ ร.เรือ ล.ลิง ใช้ภาษาไม่เหมาะสม ใช้คำพูดรุนแรง ไม่สุภาพ ใช้ภาษาเหน็บแนม ไม่สร้างสรรค์ และไม่ถูกกาลเทศะ ร้ายแรงสุดคือ มีนักการเมืองที่พูดและชูนิ้วกลางให้ของลับออกมา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้
ในปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้ภาษาและท่าทางที่ไม่เหมาะสมของนักการเมืองสามารถเห็นได้ทั้งในและนอกสภาฯ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่ง เนื่องจากนักการเมืองอาจขาดความตระหนักว่า ตนเองนั้นอยู่ในฐานะที่เป็น ldquo;ผู้นำทางความคิดและการกระทำrdquo; แก่คนในสังคม เป็นบุคคลสาธารณะที่อยู่ในสายตาประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ หากเป็นคนที่ประชาชนชื่นชอบ ไม่ว่าสิ่งที่เขาแสดงออกนั้นดีหรือไม่ ย่อมส่งอิทธิพลเชิงบวกให้เห็นว่า สิ่งนั้นเหมาะสม ยอมรับได้ ดังนั้น หากนักการเมืองไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมย่อมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่คนในสังคม
การจะทำให้นักการเมืองเป็นแบบอย่างที่ดีนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ควรเริ่มให้มีการดำเนินการในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่
การสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ ส.ส. ทุกท่านตระหนักว่า ตนเองไม่ได้เป็นเพียง ldquo;ตัวแทนrdquo; ประชาชน แต่เป็น ldquo;ผู้นำrdquo; ประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ด้วย โดยอาจจัดให้มีการอบรมให้ตัวแทนผู้ทรงเกียรติเหล่านี้รู้ว่าควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องใดบ้าง รู้ว่าสิ่งใดที่ควรทำ สิ่งใดที่ไม่ควรทำ เพราะเหตุใด
การกำหนดกฎระเบียบ ในการอภิปรายควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า คำพูดประเภทใดบ้างที่ไม่ควรใช้ในการอภิปราย อาทิ คำพูดหยาบคาย คำไม่สุภาพ คำด่า คำพูดเสียดสี และการแสดงท่าทางอย่างไรที่ไม่สามารถทำได้ อาทิ การทะเลาะวิวาท การแสดงสัญลักษณ์หรือท่าทางที่หยาบคาย
การกำหนดบทลงโทษ เพื่อจัดการพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรมีข้อกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม เช่น หากใครพูดไม่สุภาพ ครั้งแรกอาจเป็นการเตือนด้วยวาจา ครั้งที่สองให้ใบเหลือง ครั้งที่สามให้ใบแดง หรือให้ออกจากการประชุมในครั้งนั้น เป็นต้น
การจัดอันดับ ส.ส. ในการอภิปรายทุกครั้ง สื่อมวลชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดอันดับ ส.ส.ที่อภิปรายในสภาฯ ทั้งในด้านบวก อันได้แก่ แบบอย่างที่ดีในการใช้คำพูดและท่าทางที่สุภาพเหมาะสม และในด้านลบ ได้แก่ การใช้คำพูดและกริยาวาจาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าผู้แทนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่นั้นมีพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่
คำกล่าวที่ว่า ldquo;ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยากrdquo; นั้น จะยังคงเป็นความจริงหรือไม่นั้น คงต้องลองดูว่า หาก ส.ส.ผู้ทรงเกียรติในสภาฯ ต่างตระหนักว่า ตนเองเป็น ldquo;ผู้นำทางความคิดและการกระทำrdquo; ของคนในสังคมแล้ว ยังคงมีพฤติกรรมเช่นเดิมอยู่หรือไม่?