ภาษีช่วยพรรค อย่าลืมแจ้งประชาชน
แนวคิดการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่พรรคของนายทุนเป็นแนวคิดที่ผมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ.2548 ผมได้สื่อสารแนวคิดนี้แก่ผู้มาฟังคำปราศรัย ได้กล่าวเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาค และสมัยที่ผมเป็น ส.ส. ในปีนั้น ผมร่างกฎหมายฉบับหนึ่งในเรื่อง ให้ประชาชนแต่ละคนมอบเงิน 100บาทให้แก่พรรคการเมืองที่ตนนิยมได้ ผ่านใบ ภงด.แต่ผลักดันไม่สำเร็จในเวลานั้น ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการตอบสนอง โดยการประกาศใช้ในปีนี้เป็นครั้งแรก ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานกับกรมสรรพากร ได้ประกาศให้ประชาชนทราบว่า สามารถหักภาษี 100 บาท มอบให้กับพรรคการเมืองที่ต้องการสนับสนุนได้ ในช่วงการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภงด.90 หรือ ภงด.91 จนถึงขณะนี้ เรียกได้ว่า หมดเขตยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีแล้ว และช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเงียบหายไป จึงเกรงว่าถ้าเงียบไปเฉย ๆ การดำเนินงานนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรได้
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง กกต. และ กรมสรรพากร ควรดำเนินการในลำดับต่อไป คือ เผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน เกี่ยวกับการบริจาคให้พรรคการเมืองว่า มีจำนวนผู้บริจาคเท่าไร เป็นเงินเท่าไร มีพรรคใดได้รับบ้าง จำนวนเท่าไร เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบ และเพื่อให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคทราบว่ามีประชาชนสนับสนุนมากน้อยเพียงใด อันจะเป็นประโยชน์ในการหาเสียงต่อไป รวมทั้งเพื่อให้ กกต.รับรู้ว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวการดำเนินงานนี้ อันจะช่วยในการวางแผนประชาสัมพันธ์ได้ในลำดับต่อไป
ที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่า การบริจาคเงินภาษีให้พรรคการเมืองนี้มีการประชาสัมพันธ์น้อยมาก ไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบ อีกทั้ง แม้ประชาชนจะทราบ แต่ไม่เข้าใจวิธีการ หลายคนคิดว่า ตนต้องเสียเงินเพิ่ม 100 บาท โดยไม่ทราบว่า กรมสรรพากรจะเจียดเงินออกจากรายได้ของกรมสรรพากรไปให้ กกต. เพื่อให้ กกต.ใช้พัฒนาพรรคการเมืองตามการสนับสนุนของประชาชน
การชี้แจงให้ประชาชนและพรรคการเมืองทราบเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากเพิกเฉยไปก็เท่ากับ การบังคับใช้กฎหมายนี้ล้มเหลว ไม่สำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง