รัฐธรรมนูญใหม่ มีอะไรใหม่?

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยกำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมว่าจะรับ หรือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเห็นว่าก่อนการลงประชามติซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการนำประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป ประชาชนไม่ควรตัดสินใจลงประชามติโดยให้ความรู้สึกหรือกระแสพาไป แต่ควรมีโอกาสพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบด้วยตนเองก่อน

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมได้เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เฉพาะแนวคิดและประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจลงประชามติ

แนวคิดเบื้องหลัง
ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ยังคงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเสรี กลไกตลาด รวมทั้งการที่รัฐจะต้องทำหน้าที่จัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชน

แนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักการของ
ldquo;Social liberalismrdquo; ซึ่งเชื่อว่า การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่มั่นคงสำหรับทุกคนนั้น ควรให้เศรษฐกิจเป็นไปอย่างเสรีตามกลไกตลาด แต่รัฐควรควบคุมในระดับหนึ่ง เช่น ให้มีกฎหมายต่อต้านการผูกขาด จัดตั้งองค์กรกำกับดูแล กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น รัฐต้องจัดสรรสวัสดิการ การศึกษาและสาธารณสุข หรือบริการสาธารณะอื่น ๆ ให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยอาศัยเงินภาษีของประเทศ

หากพิจารณาเนื้อหาที่เหมือนกันของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับจะพบว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังคงมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น
การกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม การสนับสนุนการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การอุดหนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข และการกระจายอำนาจการคลังลงสู่ท้องถิ่น
ส่วนเนื้อหาที่เพิ่มขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เช่น การระบุวิธีการกระจายรายได้ด้วยการคุ้มครอง ส่งเสริม และขยายโอกาสในเรื่องการประกอบอาชีพ การระบุให้กลุ่มคนยากไร้และพิการต้องได้รับการอุดหนุนการศึกษา เป็นต้น

ขณะที่ประเด็นใหญ่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาใหม่มี 3 ประเด็น

ประเด็นแรก กระบวนการทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจของรัฐ กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนและงบประมาณ ให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องเปิดเผยรายละเอียดของสัญญา และต้องชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยตรากฎหมายลูกเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้

ประเด็นต่อมา วิธีการงบประมาณให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้ และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ โดยให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องแสดงข้อมูลรายรับ และสถานะทางการเงินการคลังที่ผ่านมา และให้ตรากฎหมายการเงินการคลังเพื่อเป็นกรอบในการใช้จ่ายของรัฐ รวมทั้งให้ชี้แจงเงินรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งคลังหรือเงินนอกงบประมาณต่อรัฐสภาด้วย

ประเด็นสุดท้าย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยระบุว่ารัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น และต้องไม่ให้อยู่ในความผูกขาดของเอกชน และกำหนดว่าโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐนั้น รัฐจะเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้

เมื่อพิจารณาเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ ผมเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นความพยายามอุดรูรั่วของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจดังที่ปรากฏในรัฐบาลที่ผ่านมา อันได้แก่ปัญหาการเจรจาการค้าเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ความไม่โปร่งใสของการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน การกระจายรายได้ และการอุดหนุนการศึกษา

ผมเห็นด้วยกับหลายประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะการตรากฎหมายเพื่อกำหนดกระบวนการทำสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศ และการกำหนดวิธีการงบประมาณให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งหลักการที่มิให้เอกชนผูกขาดกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ถึงกระนั้น ผมเห็นว่ายังมีประเด็นด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญด้วย อาทิ การกำหนดกระบวนการทำหนังสือสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ กระบวนการคุ้มครองและชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

ความไม่เพียงพอของงบประมาณแผ่นดินในการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังมิได้ถูกคำนึงถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงแม้ว่าการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งผมเห็นว่า ประชาชนที่มีความสามารถในการจ่ายควรมีส่วนร่วมจ่ายสำหรับการศึกษาด้วย หรือควรระบุถึงการขยายฐานการจัดเก็บภาษีเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอต่อภาระหน้าที่ของรัฐในการจัดสวัสดิการสังคมด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ควรพิจารณาด้วยว่า จะทำอย่างไรให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ไม่ให้เหมือนอย่างที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ตัวอักษรที่อยู่บนแผ่นกระดาษเท่านั้น
admin
เผยแพร่: 
www.sapasupsip.com
เมื่อ: 
2007-08-02