กม.คุกคามทางเพศภาครัฐ คิดให้ครบก่อนใช้
วันสตรีสากล 8 มีนาคม ของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาที่ทุกประเทศทั่วโลก ต่างรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสตรี ในประเทศไทยเช่นกัน ปีนี้ มีประเด็นน่าสนใจที่หลายฝ่ายผลักดันให้เกิดขึ้น นั่นคือ การเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายลงโทษผู้บังคับบัญชาที่คุกคามทางเพศข้าราชการหญิง เหมือนภาคเอกชน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาวันสตรีสากล ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา เรื่อง ldquo;กฎระเบียบข้าราชการ พนักงานรัฐกับการบังคับใช้ : คุ้มครองหรือละเมิดสิทธิสตรีทางเพศrdquo; และได้มีการเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 เพื่อให้เป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ
ผมเห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นเรื่องผู้บังคับบัญชาลวนลามเจ้าหน้าที่หญิงมีมานาน เป็นที่รับรู้กัน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวย่อมช่วยป้องปรามการคุกคามทางเพศในที่ทำงานให้ลดน้อยลงได้
อย่างไรก็ตาม ขอมองในมุมต่าง เพื่อให้กฎหมายนี้เกิดประโยชน์สูงสุดจริง ๆ เมื่อนำมาบังคับใช้ เนื่องจากเห็นว่า มีหลายประเด็นที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ อาทิ
นิยาม ldquo;คุกคาม/ละเมิดทางเพศrdquo; ควรกำหนดให้ชัดเจน ต้องระบุให้ชัดว่า คุกคามทางเพส หรือ ละเมิดทางเพศ หรือคำศัพท์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นหมายถึงอะไร เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด เช่น การมองด้วยสายตาอย่างไรตึงถือว่าเป็นการคุกคาม การพูดจาวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา พูดจาหยาบคาย ลักษณะใดจึงถือว่าเป็นการละเมิดทางเพศ หรือจะแยกแยะความแตกต่างอย่างไรระหว่าง เจตนาหรือจงใจกระทำ กับ การกระทำที่ไม่ได้เจตนา เป็นต้น
กฎหมายควรครอบคลุมทุกเพศ แม้ว่ากฎหมายนี้จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการที่ข้าราชการหญิงถูกผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นเพศชาย กระทำการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ควรระบุครอบคลุมผู้เสียหายที่เป็นเพศชาย หรือเพศที่สามด้วย เช่น สมมติว่า หากเกิดมีผู้บังคับบัญชาหญิง คุกคามทางเพศลูกน้องผู้ชายโดยใช้อำนาจบังคับ หรือผู้บังคับบัญชาชายกระทำการเช่นเดียวกับลูกน้องเพศชาย เช่นนี้ บุคคลผู้เสียหายเหล่านี้ ย่อมสมควรที่จะฟ้องร้องเอาผิด เพื่อปกป้องสิทธิของตนได้เช่นกัน
ต้องปกป้องและเคารพสิทธิทั้งสองฝ่าย ในส่วนผู้ร้องเรียน ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว บ่อยครั้งเราอาจได้ยินว่า คนที่มาร้องเรียนถูกข่มขู่ โดยเฉพาะหากผู้ที่คุกคามเป็นผู้บังคับบัญชา อาจถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ จนไม่สามารถทำงานได้ บางครั้งรู้สึกอับอาย เนื่องจากเรื่องที่ร้องเรียน กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในที่ทำงาน ขณะเดียวกัน ในฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา จำเป็นต้องให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ไม่ควรด่วนสรุป หรือ นำข้อมูลเปิดเผย ในระหว่างการสืบสวน เพราะอาจเป็นการกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายกัน เพื่อทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งที่เรื่องที่กล่าวหานั้น อาจไม่มีมูลเลย
กระบวนการฟ้องร้องและสืบสวนควรเป็นความลับ การดำเนินการสอบสวน ควรเป็นไปในทางลับที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งกับตัวผู้ที่ร้องเรียน และผู้ที่ถูกกล่าวหา ตั้งแต่เริ่มต้นรับเรื่องร้องเรียน ต้องปกปิดเป็นความลับ การสืบสวนต้องเป็นไปในทางลับ จนกระทั่งถึงการตัดสิน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันทั้ง 2 ฝ่าย ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชา จะไม่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดก่อนการสืบสวน หากเปิดเผยตั้งแต่ต้น เช่น สื่อมวลชนออกข่าว ก่อนสืบสวนเสร็จ ในที่สุดไม่เป็นความจริง ย่อมเสื่อมเสียชื่อเสียง ขณะเดียวกัน ในกรณีของข้าราชการหญิง ผู้เสียหาย ต้องเป็นความลับ เพื่อไม่ให้ถูกคุกคาม ข่มขู่ และช่วยให้ไม่ต้องย้ายออกจากที่ทำงานเดิม ขณะสืบสวน เพราะกระทำเป็นความลับ และเมื่อคดีความตัดสินเสร็จ ยังสามารถทำงานที่เดิมได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น ต้องปกป้องและเคารพสิทธิของทั้งสองฝ่าย
แม้จุดเริ่มต้นของ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 เพื่อให้เป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ จะเป็นการปกป้องคุ้มครองข้าราชการหญิง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข ไม่ถูกผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ แต่กฎหมายนั้น ควรคิดให้รอบคอบและครอบคลุม เพื่อให้เมื่อถึงเวลาบังคับใช้ จะไม่เกิดปัญหาที่คิดไม่ถึงตามมา
** นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2552