มหาวิทยาลัยกับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม
สังคมไทยเช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ ทั่วโลกที่มีแนวโน้มว่าจะประสบปัญหาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ปัญหาการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความรุนแรง ฯลฯ ดังนั้นการคาดหวังให้ภาครัฐมีบทบาทหลักในการแก้ปัญหาสังคมคงเป็นไปได้ยาก เพราะภาครัฐได้ทำหน้าที่ตลอดเรื่อยมา แต่ปัญหาต่างๆ กลับมีมากๆ นอกจากนั้น ภาครัฐขาดความคล่องตัวในการทำงาน และยังขาดความต่อเนื่องเพราะการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นระยะๆ เรื่อยมา
ครั้นจะฝากความหวังไว้กับภาคประชาสังคม หรือ NGOs คงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันภาคประชาสังคมของไทยไม่เข้มแข็ง และยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เนื่องจากยังขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ NGOs ส่วนใหญ่จำเป็นต้องดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุน จึงมีโอกาสสูงที่จะพลาดจากการแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง
การคาดหวังให้ภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคมเป็นไปได้ยากเช่นกัน เนื่องจากเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือ การแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือสังคม แม้ว่าจะมีบางธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยทำกิจกรรมที่เรียกว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility อยู่บ้างก็ตาม แต่ปัจจุบัน ลักษณะการทำ CSR ของธุรกิจที่มีในประเทศส่วนใหญ่นั้น มีเป้าหมายเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรมากกว่า
ทางเลือกหนึ่งที่อาจเป็นความหวังในการแก้ปัญหาสังคม นั่นคือ ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; ซึ่งผมเคยได้แบ่งปันแนวคิดนี้หลายครั้ง ผ่านทางบทความในหนังสือพิมพ์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-letter) และยังเผยแพร่ใน www.bloge/oknation.net/kriengsak ได้มีผู้ที่สนใจแนวคิดนี้จำนวนไม่น้อย และมีผู้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจกลับมายังผมจำนวนมาก
ผมจึงอยากกล่าวถึงแนวคิดนี้อีกครั้งในมุมของการศึกษา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากขึ้น
ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น เป็นการประสานระหว่างความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพและความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นที่มีลักษณะพิเศษ เพราะนอกจากจะมีความสามารถในการบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จแล้ว ในตัวของผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังมีความสนใจปัญหาสังคมและต้องการช่วยแก้ไขปัญหา โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการของธุรกิจ เป็นเครื่องมือหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเพื่อการพัฒนาสังคมสามารถสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทยนั้น การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังมีไม่มากนัก อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษาไทยยังไม่ได้พัฒนาหลักสูตร ldquo;การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; อย่างเจาะจง ขณะที่ในต่างประเทศ การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม มิใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะว่าในมหาวิทยาลัยลหายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นแนวหน้าและบุกเบิกทางงานวิชาการ มีการเปิดการเรียนการสอนและเปิดศูนย์ศึกษาด้านการเป็นผู้ประการเพื่อสังคมมานานแล้ว อาทิ
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) วิทยาลัยธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) มีโปรแกรม Social Enterprise Initiative ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดการเรียนการสอนด้านผู้ประกอบการเพื่อสังคมเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างค่านิยมให้แก่บุคคลหรือองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีค่านิยมการทำธุรกิจเพื่อสังคมร่วมด้วย ไม่เพียงแค่การแสวงหาผลกำไรสูงสุดเป็นหลัก
มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) วิทยาลัยธุรกิจของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia Business School) มีโปรแกรม Social Enterprise Program นักศึกษาที่เข้ามาเรียนโปรแกรมนี้ จะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในหลายประเภท ที่สามารถสนับสนุนงานด้านการพัฒนาสังคม
มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) วิทยาลัยการบริหารของมหาวิทยาลัยเยล (Yale School of Management) มีโปรแกรม Program on Social Enterprise (PSE) ที่ให้การสนับสนุนข้อมูลเพื่อการศึกษาให้แก่นักศึกษา องค์กรภาครัฐ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการทำธุรกิจและสังคม โดยนักศึกษาที่เข้ามาเรียนต้องรับการฝึกฝนการเป็นนักธุรกิจ สามารถเขียนแผนธุรกิจ โดยที่ธุรกิจนั้น ๆ ต้องไม่ใช่ธุรกิจที่มีส่วนทำลายสังคม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มากกว่านั้น ต้องเป็นแผนธุรกิจที่มีเป้าหมายหลักเพื่อนำกำไรที่ได้รับมาสนับสนุนงานเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคม และธุรกิจนั้นสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง และเติบโตมีกำไรเหมือนองค์กรธุรกิจทั่วไป
นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยที่เปิดศูนย์หรือสถาบันเกี่ยวกับผู้ประกอบการทางสังคม อาทิ
มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (University of Oxford)มี Centre for Social Entrepreneurship ภายในศูนย์นี้จะมีทั้งทฤษฎีและการวิจัย เพื่อสนับสนุนแนวคิดของผู้ประกอบการเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University)มี Center for the Advancement of Social Entrepreneurship (CASE) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่นักศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยซีเอทเทิล (Seattle University) มี Center for Nonprofit and Social Enterprise Management โดยศูนย์นี้มีการจัดกิจกรรม ปลูกฝังค่านิยมผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้แก่คนในสังคม และสนับสนุนผู้นำที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
วิทยาลัยโรเบิร์ตส์ เวสลีเยน (Roberts Wesleyan Collage) มี Institute for Social Entrepreneurship สถาบันนี้จะมีการจัดสัมมนา ประชุมระดมความคิดเห็น และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการทางสังคม ทั้งในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก อีกทั้งมีการจัดทำหนังสือหรือเอกสาร เกี่ยวกับผู้ประกอบการทางสังคมจำนวนมาก
มหาวิทยาลัยเพซ (Pace University)มีศูนย์ Helene amp; Grant Wilson Center for Social Entrepreneurship เพื่อสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการให้มหาวิทยาลัย และกลุ่มประชาคมที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ต้องการเพิ่มศักยภาพตนเองในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าประเทศไทย ควรสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้มากขึ้น โดยมีการดำเนินการอย่างมืออาชีพ ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล สามารถอยู่รอดและเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ เริ่มจากการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย โดยอาจจัดตั้งเป็นคณะ สาขา หรือหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม หรือพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อผลิตกำลังคนและองค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่มีคุณภาพสู่สังคม อันจะมีส่วนแก้ไขและพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศภาพรวม
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ:
2007-08-02
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อธรรมาภิบาลสั่นคลอน: บทเรียนและทางออกสำหรับตลาดทุนไทย
Total views: อ่าน 36 ครั้ง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 63 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 247 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 224 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 284 ครั้ง