เอเลน กู๊ดแมน แบบอย่างการแสดงออกของผู้หญิงต่อสังคม

เอเลน กู๊ดแมน (Ellen Goodman) นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ เมื่อปี ค.ศ.1980 มีผลงานปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์กว่า 440 ฉบับทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของงานเขียน 6 เล่ม ที่มีชื่อเสียงคือหนังสือชื่อ ldquo;Turning Pointsrdquo; ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1979 งานเขียนในช่วงแรกของเธอนับว่า มีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอเมริกัน เพราะเป็นงานเขียนชิ้นแรก ๆ ที่สะท้อนความคิดของผู้หญิงในหน้าหนังสือพิมพ์
นักเขียน คอลัมน์นิสต์ คนดังคนนี้ ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เก่าที่ฮาร์วาร์ดภาคภูมิใจคนหนึ่ง ล่าสุดเมื่อปี ค.ศ.2002 เอเลน กู๊ดแมนได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ (Harvard College Women's Professional Achievement Award) ที่จัดโดยฮาร์วาร์ด เนื่องจากมีภาวะผู้นำ มีผลงานที่สะท้อนถึงความมีอุดมการณ์ในการทำงาน และเป็นรุ่นพี่ที่เป็นตัวแบบที่ดีสำหรับนักศึกษาของวิทยาลัยเรดคริฟฟ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เมื่อแรกตั้งเพื่อ ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้
เอเลน กู๊ดแมน เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าของวิทยาลัยเรดคริฟฟ์ ผู้จบการศึกษา ด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม (cum laude) ในปี ค.ศ.1963 ภายหลังจากนั้นในปี ค.ศ.1973 รั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ได้เปิดต้อนรับเธออีกครั้งในฐานะนักวิจัยไนน์แมน (Nieman Fellow) ซึ่งเธอได้รับเชิญเนื่องจากเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีผลงานโดดเด่น และในปี ค.ศ.2007 เธอได้รับเชิญมาที่ฮาร์วาร์ดอีกครั้งในฐานะนักวิจัยชอเรนสไตน์ (Shorenstein Fellow)
การกลับมาศึกษาต่อในฐานะนักวิจัยทั้งสองครั้ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เอเลน กู๊ดแมน ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างจริงจัง โดยในการเป็นนักวิจัยไนน์แมน เธอสนใจศึกษาเรื่องพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงของสังคม และในฐานะนักวิจัยชอเรนสไตน์ เธอให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่อง เพศและข่าว
เอเลน กู๊ดแมน ได้นำประสบการณ์ ความรู้ของเธอที่ได้รับจากรั้วฮาร์วาร์ด มาใช้ในการทำงาน จนสร้างชื่อเสียง และประสบความสำเร็จ ในฐานะนักเขียนที่ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ เธอได้ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในฐานะนักข่าวมากขึ้น โดยเธอเป็นผู้ริเริ่มทำการรายงานข่าว เขียนบทความ เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ จากเดิมที่ผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับให้ทำหน้าที่นักข่าว ทำได้เพียงนักวิจัยที่คอยหาข้อมูลสนับสนุนการรายงานข่าว
รวมถึงเป็นผู้ผลักดันประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ให้เป็นที่รู้จัก และได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งมุมมองเรื่อง การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ครอบครัว การเมือง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับช่องว่างของเพศ ในการนำเสนอข่าวตามสื่อต่าง ๆ และในอินเทอร์เน็ต
ข้อคิดสำคัญที่ได้รับจากชีวิตของ เอเลน กู๊ดแมน นั้นไม่เพียงเราได้เห็นถึงความสำเร็จของบุคคลหนึ่งที่เกิดจากการทำงานหนัก ความมุ่งมั่นในการทำงาน เรายังได้เห็นถึงลักษณะชีวิตที่ดีหลายประการ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้นักเขียนผู้นี้ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในวงกว้าง
มีความคิดแง่บวก เอเลน กู๊ดแมน ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะชีวิตที่มองข้ามอุปสรรคในการทำงาน กล้าที่จะฝันและทำในสิ่งที่แตกต่างจนสามารถเป็นนักข่าว และบรรณาธิการที่มีชื่อเสียง ผมเชื่อว่า การคิดแง่บวกจะทำให้เรามีกำลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตข้างหน้า ไม่หวาดกลัวอนาคต กล้าเสี่ยงในทางที่ดี คิดหาทางออกได้ "มองความเป็นไปได้" เสมอ และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
กระทำอย่างดีเลิศ ลักษณะชีวิตของเอเลน กู๊ดแมน ที่ทุ่มเททั้งสติปัญญา ความรู้ กำลังกายในการทำงานหนัก เพื่อเผยแพร่ความคิด ความเห็นของผู้หญิงให้โลดเล่นในโลกของสื่อ ให้สังคมได้รับรู้ถึงความคิดเห็นในอีกมุมมองหนึ่งนั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมที่ประเมินผลของงานจากงานที่ทำเป็นหลัก คนที่ทำดีย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดี
มีความรับผิดชอบต่อสังคม การทำงานอย่างมีอุดมการณ์ โดยนำตนเองให้มีส่วนร่วมและมีส่วนช่วยเหลือสังคม เป็นปากเสียงแทนคนกลุ่มหนึ่งที่ความคิดส่วนหนึ่งถูกละเลยจากสังคม ดังเช่นที่เอเลน กู๊ดแมนได้ทำนั้น ทำให้เห็นถึงลักษณะชีวิตที่มองความสำเร็จไกลกว่าการทำงานเพื่อเงิน แต่มองเห็นว่า ตนสามารถใช้วิชาชีพของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ใช้ความรู้ที่มีช่วยเหลือสังคมส่วนรวมให้ดีขึ้นมาได้
ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างจุดขายให้ตนเอง โดยการนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่เคยมีอยู่ของ เอเลน กู๊ดแมน นับเป็นการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ ที่ทำให้งานของเธอมีความโดดเด่นต่างจากคนอื่น สะท้อนว่า จุดได้เปรียบในโลกของการแข่งขันภายใต้ความจำกัดของทรัพยากรที่มี ต้องการความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วย ความคิดสร้างสรรค์จะทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานจากความจำกัดได้
มีความอดทน พากเพียร เอเลน กู๊ดแมนได้แสดงแบบอย่างที่ดีในการอดทนต่ออุปสรรคในการเรียน และการทำงาน เธอสามารถพิสูจน์ตัวเองในองค์กรที่เข้าไปทำงาน พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่เลิกรากลางคัน แต่ฝ่าฟันจนสำเร็จ สามารถสร้างกำลังใจให้ตนเอง ซึ่งผมเห็นว่า ลักษณะชีวิตเช่นนี้ จะทำให้เราตอบสนองได้ถูกเมื่ออยู่ภายใต้แรงกดดัน และสามารถประสบความสำเร็จในการเรียน และการทำงานได้
แบบอย่างชีวิตของเอเลน กู๊ดแมนทำให้ผมนึกถึงหนังสือ ldquo;ข้อคิดเพื่อความสำเร็จrdquo; ตีพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ.2542 ผมได้เขียนถึงปรัชญาความสำเร็จไว้ว่า"การนำเอาสิ่งดีที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้อย่างสุดกำลังความสามารถร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดที่แท้จริง จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตด้วยหวังว่าในบั้นปลายแห่งชีวิตจะมีโอกาสอิ่มเอมใจในผลงานแห่งการลงแรงนี้อย่างเต็มที่และดีที่สุดตลอดชีวิตrdquo;
นักศึกษาทุกคนนับว่า เป็นอนาคตของสังคม การมีคุณสมบัติทั้งด้านความรู้ ทักษะความสามารถ ลักษณะชีวิตที่ดีที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองและสังคม ซึ่งบางครั้งช่วงชีวิตที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้รับการสอนอย่างครบถ้วนทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากตัวนักศึกษาเอง ที่ต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์และเป้าหมายที่ถูกต้อง และดำเนินในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนและทำงาน ให้ประสบความสำเร็จและเกิดความอิ่มเอมใจที่ได้ดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งไม่อาจหาสิ่งใดมาเทียบค่าได้
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-07-19