การรีดเลือดจากปูของโครงการเช่ารถเมล์ NGV

แม้โครงการเช่ารถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas Vehicle: NGV) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะถูกถอนออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยจุดประสงค์หลักของการปรับโครงสร้าง ขสมก. คือ การลดภาระการขาดทุนของ ขสมก. ซึ่งปัจจุบันขาดทุนสะสมกว่า 7 หมื่นล้านบาท และในภาวะที่ราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้นมากนั้น จะทำให้ ขสมก.ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ 1.4 แสนล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า และการนำรถเมล์ NGV มาใช้จะทำให้ต้นทุนลดลง ซึ่งจะลดการขาดทุนสะสมลงได้ถึงร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีข้างหน้า
เหตุผลที่ ขสมก.และกระทรวงคมนาคมพยายามเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ NGV คือ ราคา NGV ถูกกว่าน้ำมันดีเซลมาก โดยรถเมล์ NGV มีต้นทุนการเดินรถต่อระยะทาง ต่ำกว่ารถเมล์รถร้อนและรถเมล์ปรับอากาศประมาณร้อยละ 30
หากวิเคราะห์ตัวเลขงบกำไรขาดทุนของ ขสมก.ในปีงบประมาณ 2550 เราจะพบว่า การลดต้นทุนจากค่าเชื้อเพลิงในอัตราเพียงร้อยละ 30 จะทำให้การขาดทุนลดลงได้สูงสุด 2,268 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุนสุทธิ 5,882 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2550 และหากหักค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง (เนื่องจากเป็นรถเช่าจึงไม่ต้องซ่อมบำรุงเอง) อีก 1,915 ล้านบาท ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกผลประกอบการจากแนวโน้มเดิมที่จะการขาดทุนสะสมเพิ่ม 2 เท่า ในอีก 10 ปี มาเป็นการลดการขาดทุนสะสมครึ่งหนึ่ง ในอีก 10 ปี ซึ่งหมายความว่า ขสมก. จะต้องมีกำไรประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปีหลังการปรับโครงสร้างแล้ว
นั่นเป็นนัยว่าต้องมี ldquo;แหล่งที่มาของเงินrdquo; อื่นอีกประมาณ 5.2 พันล้านบาทต่อปี ที่จะทำให้ ขสมก. มีสภาพการเงินดีขึ้น หากจะพูดให้ชัดเจนก็คือ ขสมก.บังคับให้คนบางกลุ่มจ่ายหนี้แทน ขสมก.นั่นเอง
ผู้เสียหายจากโครงการนี้คือ กลุ่มผู้โดยสารซึ่งเป็นคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งแต่เดิมสามารถนั่งรถเมล์ร้อนได้ โดยจ่ายค่าโดยสาร 7 บาท แต่ถ้า ครม. อนุมัติให้รถเมล์ร้อนทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยรถแอร์ NGV ผู้โดยสารจะต้องจ่ายค่าโดยสาร 15 บาท นั่นหมายความว่า คนยากจนที่เคยนั่งรถเมล์ร้อนต้องจ่ายค่าโดยสาร เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ต้นทุนการเดินรถลดลงอย่างน้อยร้อยละ 30
ถ้า ขสมก. รีดเลือดจากปูขนาดนี้ ก็ต้องได้กำไรอย่างไม่มีข้อกังขา
ขสมก. อาจอ้างว่า ค่าโดยสารถูกลงด้วยซ้ำ หากพิจารณาโดยการเปรียบเทียบค่าโดยสาร 15 บาทกับ 22 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในขณะนี้ แต่ความจริงแล้ว พฤติกรรมของผู้โดยสารที่มีรายได้น้อยมักจะนั่งรถเมล์ร้อนและนั่งในระยะทางใกล้ ๆ เนื่องจากรูปแบบชีวิตของคนจนมักอาศัยอยู่ใกล้ที่ทำงาน ในขณะที่คนที่มีรายได้สูงขึ้นนั้นมักรถนั่งโดยสารปรับอากาศและนั่งระยะทางค่อนข้างไกล ดังนั้นการเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย นอกจากจะเป็นการยัดเยียดให้คนจนจ่ายหนี้แทน ขสมก. แล้ว ยังถือว่าเอาเงินคนจนที่อยู่บ้านใกล้ ไปช่วยค่าโดยสารคนรวยกว่าที่อยู่บ้านไกลอีกด้วย
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
เมื่อ: 
2008-07-18