นัยซ่อนเร้นของโครงการเช่ารถเมล์ NGV (2): ทางออก

จากบทความครั้งที่แล้ว ผมได้ตั้งข้อสังเกตต่อแผนการปรับโครงสร้างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในบางประเด็น บทความนี้ผมจึงขอเสนอเกี่ยวกับหลักการและวิธีดำเนินการที่ควรจะเป็น
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ขสมก. ต้องอยู่รอดได้ แต่การอยู่รอดของขสมก. ต้องไม่ได้มาโดยการไปขูดรีดคนยากจน ดังนั้นโดยหลักการแล้ว การลดต้นทุนโดยการเปลี่ยนไปใช้ รถ NGV ถือว่าถูกต้อง แต่การบังคับให้ผู้โดยสารทุกคนต้องจ่ายค่าโดยสารขั้นต่ำ 15 บาท ซึ่งจะเป็นภาระแก่คนยากจนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ ผมจึงขอเสนอประเด็นที่ควรพิจารณาแก้ไขดังนี้
สำหรับประเด็นค่าโดยสาร ผมเห็นว่ารถเมล์ราคาถูกยังจำเป็นต้องมีต่อไปตราบใดที่ช่องว่างของรายได้ของคนกรุงเทพฯ ยังห่างกันมาก ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการปรับโครงสร้าง ขสมก. ผมขอเสนอให้แก้ไขเนื้อหาของแผนเสียใหม่ โดยไม่บังคับให้ผู้โดยสารทุกคนต้องเสียค่ารถเมล์ขั้นต่ำ 15 บาท แต่อย่างน้อยจะต้องมีรถเมล์ NGV แบบไม่ปรับอากาศ ที่ให้บริการในราคา 7 บาทเท่าเดิมด้วย
ทำไมรถเมล์ต้องคงราคาไว้ที่ 7 บาท? เหตุผลประการแรกคือ เพื่อช่วยไม่ให้คนจนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกประการหนึ่งคือ ความจริงแล้วรถ NGV มีต้นทุนต่ำกว่ารถเมล์ร้อนแบบเดิมด้วยซ้ำ การเก็บค่าโดยสารรถเมล์ NGV ในราคาถูก จึงมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเห็นชอบให้ค่ารถเมล์ NGV อยู่ที่ 15 บาทตามเดิม ผมขอเสนอว่า รัฐบาลหรือกรุงเทพมหานครควรจัดทำ โครงการ ldquo;รถเมล์ศูนย์บาทrdquo; เพื่อช่วยคนรายได้น้อย
รถเมล์ศูนย์บาทเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจาก ขสมก. โดยจะเป็นรถเมล์ที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ไม่มีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารทั่วไป ไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร ไม่บังคับให้ผู้โดยสารจ่ายค่าโดยสาร (แต่ผู้โดยสารอาจบริจาคตามใจสมัครก็ได้) และเส้นทางการเดินรถผ่านชุมชนและตรอกซอยต่าง ๆ ที่ผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งรถเมล์รูปแบบนี้จะลดต้นทุนการเดินรถได้มาก และยังมีเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นที่ยินดีเข้ามาใช้บริการ
ก่อนจะเริ่มโครงการรถเมล์ศูนย์บาท ควรมีการสำรวจความต้องการของชุมชนต่าง ๆ และการที่วิถีชีวิตของผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่มักจะเดินทางไม่ไกลมากนัก เพราะมักจะพักอาศัยใกล้ที่ทำงาน เส้นทางรถเมล์ศูนย์บาทจึงมีระยะทางค่อนข้างสั้น โดยผ่านจุดสำคัญ ๆ ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย และเน้นเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีความต้องการเดินทางสูงเท่านั้น การที่วิ่งระยะสั้น ๆ และมีเฉพาะผู้โดยสารที่ยากจนจำนวนมาก จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ
ในด้านงบประมาณในการเดินรถนั้น ควรได้รับการอุดหนุนจากงบประมาณของรัฐและผลกำไรของ ขสมก. (ซึ่งจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการเก็บค่าโดยสาร 15 บาท) และอีกส่วนหนึ่งอาจได้มาจากรายได้จากการติดป้ายโฆษณา และรายได้เชิงพาณิชย์อื่น ๆ รวมทั้งการขอการสนับสนุนจากบริษัทห้างร้านของเอกชน รวมทั้งการรับบริจาคจากประชาชนและผู้โดยสาร
สำหรับประเด็นตั๋วโดยสาร ซึ่งรัฐบาลจะเปลี่ยนไปใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ผมเห็นว่า เมื่อนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับตั๋วรถเมล์แล้ว ก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสาร ซึ่งผมคาดว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่ขึ้นรถปรับอากาศ NGV นั้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางที่สามารถซื้อความสะดวกสบายได้บ้าง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีศักยภาพและความต้องการที่จะรับบริการขนส่งมวลชนอื่นที่สะดวกและรวดเร็วกว่า เช่น รถไฟฟ้า ด้วย
ผมจึงขอเสนอให้ยกระดับ E-ticket เป็น City Link card ซึ่งในบัตรเดียวสามารถเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ตั้งแต่รถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง หรือแม้แต่เรือด่วนหรือเรือข้ามฟาก ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรนี้ในการเดินด้วยขนส่งสาธารณะแบบใดก็ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยว และสามารถเลือกประเภทของบัตรได้หลากหลาย ทั้งบัตรวัน บัตรสัปดาห์ หรือบัตรเดือน
การยกระดับ E-ticket เป็น City Link card มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการขนส่งมวลชน ให้มีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นได้ในราคาที่คุ้มค่าขึ้น ซึ่งจะจูงใจให้คนที่เคยใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และหากมีการจัดระบบเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพยังทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาเดินทางลดลงด้วย
สำหรับประเด็นการปรับโครงสร้างการจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารหรือกระเป๋ารถเมล์ ที่ผู้บริหาร ขสมก.ยืนยันว่าจะไม่มีการปลดพนักงานออก แต่จะจูงใจให้เกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) หรือเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์หรือพนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น นับเป็นมาตรการที่ควรดำเนินการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลควรจัดหาตำแหน่งงานใหม่เพื่อรองรับพนักงานกลุ่มนี้ เช่น การโอนย้ายไปทำงานในรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น
สำหรับประเด็นการคอร์รัปชัน หากจะวิเคราะห์แรงจูงใจเบื้องหลังของรัฐบาลนับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลและขสมก.มีท่าทีแข็งขันในการเช่ารถ NGV เป็นอย่างมาก ทั้งที่ทราบดีว่าการประกาศเปลี่ยนอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำจาก 7 บาทเป็น 15 บาทนั้นจะสร้างความไม่พอใจต่อคนที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล ท่าทีดังกล่าวดูจะผิดจากสามัญสำนึกของนักการเมืองที่กลัวการเสียความนิยมมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมเกิดความสงสัยว่ามีใครได้ประโยชน์หรือไม่จากโครงการนี้
ในชีวิตคนเรามีสามสิ่งที่ไม่หวนกลับ นั่นคือ เวลา คำพูด และโอกาส การที่รัฐบาลเอ่ยถึงนโยบายที่ประทับความขุ่นเขืองไว้ในใจของประชาชนคนยากนั้น ก็ไม่สามารถหวนคืนกลับได้เช่นกัน
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-06-27