มหาวิทยาลัยในอังกฤษ จี้รัฐลดบทบาท

สมาคมผู้บริหารมหาวิทยาลัย (Association of University Administrators) ประเทศอังกฤษ ได้จัดงานสัมมนาเมื่อต้นเมษายน ค.ศ.2008 ประเด็นหลักที่พูดถึงในการสัมมนานี้คือ มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของมหาวิทยาลัยมากเกินไป
นายโจน เอฟ บาลวินด์ (Jon F. Baldwin) จากสำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยวอร์ริค (University of Warwick) ผู้บรรยายหลัก กล่าวว่า การที่รัฐบาลอังกฤษได้เข้ามาแทรกแซงการบริหารของมหาวิทยาลัยมากเกินไป อาจกระทบต่อการแข่งขันในตลาดการอุดมศึกษา นายบาลวินด์ เปรียบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเหมือน ldquo;เขาวงกตrdquo; ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาล แม้มหาวิทยาลัยจะประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายรัฐมากเพียงใด แต่งานที่ต้องรับผิดชอบไม่เคยสิ้นสุด
สาเหตุที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในอังกฤษ แสดงท่าทีไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการบริหารมหาวิทยาลัย หรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการอุดมศึกษา เนื่องจากเบื่อหน่ายระบบราชการและปัญหาการแทรกแซงของภาครัฐ ดังนี้
ระบบราชการมีระเบียบกฎเกณฑ์มากเกินไป แซลลี่ ฮันท์ (Sally Hunt) เลขาธิการสหภาพมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (University and College Union: UCU) กล่าวว่า จากงานวิจัยของ UCU พบว่า ระบบการทำงานแบบราชการและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่มากเกินไป เป็นอุปสรรคต่องานวิชาการ นอกจากนี้ ยังต้องเสียงบประมาณไปกับการแก้ปัญหาการทำงานที่มีความซับซ้อน สอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.ริค แทรนเนอร์ (Rick Trainor) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งสหราชอาณาจักร (Universities UK: UUK) กล่าวว่า ระบบการทำงานแบบราชการทำให้สูญเสียเวลาในการทำงานวิชาการและการบริหารจัดการ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเผชิญกับความยุ่งยาก เมื่อต้องแข่งในตลาดการศึกษาระดับโลก ศ.แทรนเนอร์ เรียกร้องให้รัฐลดระเบียบที่มากเกินของระบบราชการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสากลอย่างสมบูรณ์
ภาครัฐพยายามแทรกแซงมหาวิทยาลัย รายงานจากองค์กรอิสระด้านการตรวจสอบกฎระเบียบข้อบังคับภาคการอุดมศึกษา ที่เรียกว่า Higher Education Regulation Review Group (HERRG)ก่อตั้งโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Departmentfor Innovation, University and Skills) ด้านการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยสตีฟ บันเดรด (Steve Bundred) ประธาน HERRG ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทม์ไฮเออร์เมื่อ 14 กันยายน ค.ศ.2007 ไว้ว่า รัฐมนตรีบางท่านต้องการเข้ามาเล่นบทบาทนำHERRGซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเกิดความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างหน้าที่ จนกระทบต่อการบริหารและงานวิชาการของมหาวิทยาลัย
ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยรัฐประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยรัฐเสียเปรียบมหาวิทยาลัยเอกชนมาก ค่าจ้างเฉลี่ยบุคลากรระดับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยรัฐอยู่ที่ 106,496 ดอลลาร์ต่อปี (ระหว่าง ค.ศ.2006-2007) แต่อัตราค่าจ้างดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 78 ของจำนวนเงินค่าจ้างทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยเอกชนกลุ่มไอวีลีก (Ivy league) กำหนดให้บุคลากรระดับเดียวกัน เพราะเล็งเห็นว่าการจ้างบุคลาการที่มีความเชี่ยวชาญจำเป็นสำหรับการพัฒนางานวิชาการ ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยรัฐเสียเปรียบมหาวิทยาลัยเอกชนโดยสิ้นเชิง จึงเกิดกรณีที่ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยรัฐลาออกไปทำวิจัยในองค์กรที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ข้อเสนอทางออกมหาวิทยาลัยรัฐในอังกฤษ
นายบาลวินด์ได้เสนอว่า มหาวิทยาลัยควรจะมีแนวทางการทำงานที่เป็นของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอรับผลผลิตจากการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเดียว แต่สามารถติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดการศึกษาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันตลาดการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ในยุคที่แข่งขันกันด้วยอัตราค่าธรรมเนียมทางการศึกษา เมื่อเทียบอัตราค่าธรรมเนียมการเรียนระหว่างมหาวิทยาลัยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พบว่าใกล้เคียงกัน คือ 10,000 ปอนด์ต่อคน หมายความว่า มหาวิทยาลัยในอังกฤษไม่มีทางเลือก นอกจากจะสร้างจุดต่าง โดยเพิ่มคุณภาพการศึกษาและกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ไม่สูงเกินไป นายบาลวินด์เชื่อว่า ความมั่นคงของมหาวิทยาลัยเกิดจากความยืดหยุ่น และเห็นว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรรวมตัวเพื่อเล่นเกมของตนเอง และติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดการศึกษาด้วยตนเอง
กรณีมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจำนวน 78 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ และในจำนวนนี้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ มีการบริหารงานเป็นอิสระแยกจากระบบราชการจำนวน 13 แห่ง ซึ่งก่อนหน้าการผลักดันมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบอย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ.2550 พูดถึงปัญหาระบบราชการในมหาวิทยาลัยรัฐ ดังนี้
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย (พ.ศ.2546) ซึ่งได้วิเคราะห์ปัญหาการบริหารอุดมศึกษาภายใต้ระบบราชการว่า ระบบราชการเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ใช้กฎกติกาเดียวกัน ทำให้สถาบันอุดมศึกษาขาดความคล่องตัว การบริหารไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถดึงดูดคนเก่งเข้าสู่ระบบ สถาบันอุดมศึกษาจึงไม่สามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ
ศ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เขียนหนังสือเรื่อง ldquo;การพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล: แนวคิดและประสบการณ์ของพระจอมเกล้าธนบุรีrdquo; (พ.ศ.2546) แสดงทัศนะเกี่ยวกับปัญหาระบบราชการในมหาวิทยาลัยรัฐไว้ว่า มหาวิทยาลัยรัฐไม่สามารถใช้กลไกตลาดกำหนดอัตราเงินเดือน จึงไม่สามารถจูงใจผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นอาจารย์ นอกจากนี้ งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เพียงพอสำหรับการอยู่รอดของมหาวิทยาลัยเท่านั้น การจัดสรรงบประมาณเป็นปีต่อปีทำให้วางแผนระยะยาวไม่ได้ และระเบียบพัสดุที่ขาดความยืดหยุ่น ไม่เอื้อต่อการนำเข้านวัตกรรมใหม่ ข้อเสนอของ ศ.ดร.กฤษณพงศ์ คือ ให้มหาวิทยาลัยบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง เป็นมหาวิทยาลัยที่แยกจากส่วนราชการ เป็นอิสระคล่องตัว
ลักษณะที่เหมือนกันของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษและประเทศไทยคือ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและบางส่วนเป็นสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความไม่พอใจในระบบราชการและต้องการบริหารจัดการตัวเอง โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ ซึ่งอาจมองได้ 2 มุมมองคือ ให้มหาวิทยาลัยรัฐเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ หรือให้มหาวิทยาลัยรัฐมีลักษณะเดียวกันกับมหาวิทยาลัยเอกชน
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างจริงจัง อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อมหาวิทยาลัยต้องหาเลี้ยงตัวเอง ดังกรณีมหาวิทยาลัยเฮิร์ทฟอร์ดเชียร์(UniversityofHertfordshire)ประเทศอังกฤษ ภายหลังการออกนอกระบบ นักศึกษาต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น ปีการศึกษาค.ศ.2006นักศึกษาปริญญาตรีต้องจ่ายค่าเล่าเรียนถึง 3,000ปอนด์ต่อคนต่อปีส่งผลกระทบต่อโอกาสเข้าศึกษาต่อของนักศึกษายากจน นอกจากนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังกำหนดให้แต่ละภาควิชาต้องหารายได้เพิ่มทุกปี โดยเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาปริญญาโทซึ่งทั้ง2กลุ่มจ่ายค่าเล่าเรียนสูงมาก การจัดหลักสูตรพิเศษ และให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไปเป็นที่ปรึกษาในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ
ผมเห็นด้วยที่จะให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการได้อิสระ เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เกิดการแข่งขัน อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและหลักสูตรได้รวดเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ยังคงต้องเข้ามีบทบาทกำหนดมาตรฐานและกำกับด้านคุณภาพ รวมถึงทิศทางผลิตบัณฑิตในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศ
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2008-07-15