ควรจัดเก็บภาษีทรัพย์สินอย่างไร
แม้ว่ารัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะถอนร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.......ออกจากวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ จะทำให้เกิดการยกเลิกกฎหมายภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ ขณะที่จะมีการหันมาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน
หลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนวณภาษีบนฐานความมั่งคั่ง กล่าวคือ มูลค่าของที่ดินและมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น แทนการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สิน รวมทั้งกระจายอำนาจการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ในการบริหารและพัฒนาชุมชน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน
ในเบื้องต้น อัตราภาษีน่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.1 ndash; 0.5 ของมูลค่าทรัพย์สิน และจะเพิ่มอัตราภาษีเป็นเท่าตัวทุก ๆ 3 ปี สำหรับที่ดินรกร้างที่เจ้าของไม่นำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์จะมีอัตราภาษีสูงกว่า อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย แต่จะไม่เก็บภาษีสำหรับที่ดินที่ทำการเกษตร
ผมเห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อเสนอบางประการสำหรับการดำเนินการภายใต้หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้
1. จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามขนาดที่ดิน ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยกำหนดอัตราภาษีแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังเห็นว่า อัตราภาษีควรเป็นอัตราก้าวหน้าตามขนาดของที่ดินด้วย โดยผู้ที่มีที่ดินขนาดใหญ่จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีที่ดินขนาดเล็ก (ขนาดที่ดิน หมายถึง ขนาดที่ดินทั้งหมดที่บุคคลหนึ่ง ๆ ถือครอง โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ติดต่อกัน)
การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน ลดแรงจูงใจในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร และทำให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ชนบท รวมทั้งกดดันให้กระจายการถือครองที่ดินออกไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น
2.เก็บภาษีที่ดินเกษตรขนาดใหญ่ ภาครัฐควรพิจารณากำหนดขนาดของที่ดินเกษตรที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรที่มีขนาดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องเสียภาษี แต่เจ้าของที่ดินเกษตรขนาดเล็กกว่าเกณฑ์จะไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เพราะถึงแม้ว่าเป็นที่ดินเกษตรกรรม แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากหรือทำฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ น่าจะเป็นคนที่ฐานะและมีความสามารถในการจ่ายภาษี มาตรการนี้ยังเป็นการป้องกันการกว้านซื้อที่ดินของเกษตรกรรายย่อย หรือทำการเกษตรบนที่ดินของตนแบบไม่จริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
3. ตั้งกลไกกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นยากจน ด้วยเหตุที่ฐานทรัพย์สินภายในพื้นที่การปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันมาก อปท.ขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เมืองพัทยา เทศบาลนคร เมืองที่มีประชากรหนาแน่น เขตนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากการเก็บภาษีดังกล่าว ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลในชนบท ที่มีประชากรไม่หนาแน่น และมีบ้าน สถานประกอบการ หรือโรงงานไม่มากนัก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเกษตรกรรม รายได้ที่จัดเก็บได้อาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่าง อปท.จึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่า อปท.ที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรหนาแน่น มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและประชากรมีฐานะยากจน อปท.อาจมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งกลไกบางประการ เพื่อดึงรายได้บางส่วนจาก อปท.ที่มีรายได้จากภาษีมาก และนำรายได้ไปอุดหนุน อปท.ที่จัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อความเท่าเทียมกัน และกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บรายได้จาก อปท.ที่ร่ำรวยเข้ากองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการอุดหนุนให้แก่ อปท.ที่ยากจน
4. ช่วยเหลือผู้ที่ขาดความสามารถในการจ่ายภาษี การกำหนดให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจสร้างความยากลำบากให้กับผู้ที่ถือครองที่ดิน แต่ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายภาษี เช่น ผู้ที่ได้รับที่ดินเป็นมรดกแต่ไม่มีเงินลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ผู้ที่ไม่ยังไม่สามารถหาผู้เช่าทำประโยชน์จากที่ดินนั้นหรือขายที่ดินออกไปได้ แต่ไม่สามารถแบกรับภาระภาษีที่ดินได้ เป็นต้น ในการนี้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีในที่ดินดังกล่าว โดยแลกกับสิทธิในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น
ตัวอย่างหนึ่งของกลไกข้างต้น คือ การผ่อนปรนให้ค้างการจ่ายภาษีได้ โดยให้จ่ายภาษีที่ค้างชำระทั้งหมดเมื่อได้รับรายได้จากการขายที่ดินนั้น อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อรวบรวมที่ดินที่เจ้าของไม่สามารถจ่ายภาษีได้ แล้วจัดหาคนยากจนเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือให้เช่าที่ดินในราคาถูก หรือให้เช่าในอัตราที่เท่ากับภาษีที่จะต้องจ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องระมัดระวังการใช้กลไกนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
5. เริ่มจัดเก็บภาษีในช่วงเวลาที่เหมาะสม เงื่อนไขเบื้องต้นของการบังคับใช้ร่างกฎหมายนี้ คือ ในช่วงแรก อัตราภาษีจะอยู่ที่ร้อยละ 25 ของอัตราภาษีที่ต้องจ่ายจริง แล้วจึงเพิ่มอัตราภาษีมากขึ้น จนกระทั่งเต็มตามอัตราภาษีที่ต้องจ่ายในที่สุด เงื่อนไขนี้จะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสปรับตัว เพราะเป็นการเพิ่มภาระภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งผมเห็นว่า ไม่ควรดำเนินการในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้ตกต่ำลงอีก แต่ควรบังคับใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีหลักการที่ดี เพราะเป็นการกระจายรายได้ ความเจริญ และโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน แต่การเก็บภาษีทรัพย์สินมีรายละเอียดที่ต้องออกแบบอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-07-25