เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง : รุ่งหรือร่วง

ภายหลังการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการประกาศวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน ประเด็นเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งน่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยผมจะอธิบายในแต่ละองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศดังนี้

การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหลังการเลือกตั้งน่าจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยบวกหลายด้าน

ปัจจัยแรก คือ ผลจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเป็นหลักพันถึงหมื่นล้าน ทั้งจากงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่สูงถึง 4 พันล้านบาท และการใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมือง การใช้จ่ายเหล่านี้จะกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ขยายตัวขึ้น

ปัจจัยที่สองเป็นปัจจัยด้านจิตวิทยา คือ ความมั่นใจของภาคเอกชน การขยายตัวของการบริโภค และโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ทั้งนี้ในปี 2550 ปัจจัยที่ทำให้ภาคเอกชนเกิดความไม่มั่นใจมากที่สุดคือปัจจัยการเมือง ทั้งด้านเสถียรภาพทางการเมือง และความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลชั่วคราวว่า จะนำประเทศจะเดินไปในทิศใด และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลน่าจะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น ภาคเอกชนจะเกิดความมั่นใจที่จะขยายการบริโภคและการลงทุนต่อไปได้

ปัจจัยสุดท้าย คือ อัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาในปี 2550 หากปีหน้าไม่มีสงครามครั้งสำคัญเกิดขึ้นในโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะยังทรงตัวที่ระดับเดิม ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยุติการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพื่อชำระหนี้ของกองทุนในปีหน้า ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศจะลดลงเล็กน้อย ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ยังอยู่ในระดับต่ำ ธปท.จึงน่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในปี 2551 ไว้ในระดับต่ำ ซึ่งจะเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน

การใช้จ่ายภาครัฐ

ผลพวงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณตลอด 5 ปีของการบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนยังคงยึดติดโครงการด้านสินเชื่อรายย่อยและนโยบายกระตุ้นการบริโภค ดังนั้นไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีโครงการประชานิยมเพื่อรักษาคะแนนนิยมไว้ ประกอบกับการจัดงบประมาณประจำปี 2551 ในแบบขาดดุลกว่า 1.6 แสนล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 เติบโตขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของรายจ่ายภาครัฐใน GDP ของประเทศนั้นไม่สูงนัก การใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่จึงมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจำกัดอยู่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

ถึงกระนั้น หากโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน หรือรถไฟฟ้า สามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ในปลายปี 2550 ตามที่รัฐบาลได้คาดหมายไว้ เงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังกระตุ้นให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บริเวณใกล้กับเส้นทางรถไฟฟ้า

การค้าระหว่างประเทศ
ตลอดครึ่งแรกของปี 2550 แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างมากเนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ แต่มูลค่าการส่งออกของไทยยังเติบโตด้วยอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์นี้อาจเป็นเพราะว่าในระยะสั้นปริมาณการนำเข้าและส่งออกไม่ได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท เมื่อค่าเงินบาทแข็งอย่างรวดเร็ว จะทำให้มูลค่าการส่งออกสูงขึ้นแต่มูลค่าการนำเข้าลดลง แต่ในระยะต่อไป ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้ปริมาณการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและส่งออกปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี J-curve

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากนัก ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยตรง แต่จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลกเป็นหลัก ดังนั้นหากค่าเงินบาทยังไม่อ่อนตัวลงในระยะต่อไป จะส่งผลทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงและการนำเข้าขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มเข้าสู่ภาวะติดลบ การค้าระหว่างประเทศจะไม่สามารถผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามที่คาดไว้

หากแนวโน้มข้างต้นเกิดขึ้นจริง แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปจากแรงขับเคลื่อนจากภายนอกเป็นแรงขับเคลื่อนจากภายใน และเปลี่ยนจากปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ จะเปลี่ยนไปจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
admin
เผยแพร่: 
กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อ: 
2007-07-25