ภาษีทรัพย์สิน ควรจัดเก็บอย่างไร ?

รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เตรียมนำร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนวณภาษีบนฐานความมั่งคั่งจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น แทนการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สิน รวมทั้งกระจายอำนาจการจัดเก็บภาษีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีรายได้ในการบริหารและพัฒนาชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน

ในเบื้องต้น อัตราภาษีน่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.1 ndash; 0.5 ของมูลค่าทรัพย์สิน และจะเพิ่มอัตราภาษีเป็นเท่าตัวทุก ๆ 3 ปี สำหรับที่ดินรกร้างที่เจ้าของไม่นำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์จะมีอัตราภาษีสูงกว่า อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย แต่จะไม่เก็บภาษีสำหรับที่ดินที่ทำการเกษตร ทั้งนี้ผมเห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อเสนอบางประการสำหรับการดำเนินการภายใต้หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้

เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามขนาดที่ดิน
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยกำหนดอัตราภาษีแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังเห็นว่าอัตราภาษีควรเป็นอัตราก้าวหน้าตามขนาดของที่ดินด้วย โดยผู้ที่มีที่ดินขนาดใหญ่จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีที่ดินขนาดเล็ก (ขนาดที่ดิน หมายถึง ขนาดที่ดินทั้งหมดที่บุคคลหนึ่ง ๆ ถือครอง โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ติดต่อกัน) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ลดแรงจูงใจในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร และทำให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ชนบท รวมทั้งกดดันให้กระจายการถือครองที่ดินออกไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น

เก็บภาษีที่ดินเกษตรขนาดใหญ่
ภาครัฐควรพิจารณากำหนดขนาดของที่ดินเกษตรที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยเจ้าของที่ดินเกษตรที่มีขนาดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องเสียภาษี แต่เจ้าของที่ดินเกษตรขนาดเล็กกว่าเกณฑ์จะไม่ต้องเสียภาษี เพราะถึงแม้ว่าเป็นที่ดินเกษตรกรรม แต่เจ้าของที่ดินจำนวนมากหรือทำฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ น่าจะเป็นคนที่ฐานะและมีความสามารถในการจ่ายภาษี มาตรการนี้ยังเป็นการป้องกันการกว้านซื้อที่ดินของเกษตรกรรายย่อย หรือทำการเกษตรบนที่ดินของตนแบบไม่จริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

ตั้งกลไกกระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่นยากจน
ด้วยเหตุที่ฐานทรัพย์สินภายในพื้นที่การปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันมาก อปท.ขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เมืองพัทยา เทศบาลนคร เมืองที่มีประชากรหนาแน่น เขตนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากการเก็บภาษีดังกล่าว ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลในชนบท ที่มีประชากรไม่หนาแน่น และมีบ้าน สถานประกอบการ หรือโรงงานไม่มากนัก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเกษตรกรรม รายได้ที่จัดเก็บได้อาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่าง อปท.จึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่า อปท.ที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรหนาแน่น มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและประชากรมีฐานะยากจน อปท.อาจมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งกลไกบางประการ เพื่อดึงรายได้บางส่วนจาก อปท.ที่มีรายได้จากภาษีมาก และนำรายได้ไปอุดหนุน อปท.ที่จัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อความเท่าเทียมกัน และกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บรายได้จาก อปท.ที่ร่ำรวยเข้ากองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการอุดหนุนให้แก่ อปท.ที่ยากจน

ช่วยเหลือผู้ที่ขาดความสามารถในการจ่ายภาษี
การกำหนดให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจสร้างความยากลำบากให้กับผู้ที่ถือครองที่ดิน แต่ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายภาษี เช่น ผู้ที่ได้รับที่ดินเป็นมรดกแต่ไม่มีเงินลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ผู้ที่ไม่ยังไม่สามารถหาผู้เช่าทำประโยชน์จากที่ดินนั้นหรือขายที่ดินออกไปได้ แต่ไม่สามารถแบกรับภาระภาษีที่ดินได้ เป็นต้น ในการนี้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีในที่ดินดังกล่าว โดยแลกกับสิทธิในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น
ตัวอย่างหนึ่งของกลไกข้างต้น คือ การผ่อนปรนให้ค้างการจ่ายภาษีได้ โดยให้จ่ายภาษีที่ค้างชำระทั้งหมดเมื่อได้รับรายได้จากการขายที่ดินนั้น อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อรวบรวมที่ดินที่เจ้าของไม่สามารถจ่ายภาษีได้ แล้วจัดหาคนยากจนเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือให้เช่าที่ดินในราคาถูก หรือให้เช่าในอัตราที่เท่ากับภาษีที่จะต้องจ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องระมัดระวังการใช้กลไกนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

เริ่มจัดเก็บภาษีในช่วงเวลาที่เหมาะสม
เงื่อนไขเบื้องต้นของการบังคับใช้ร่างกฎหมายนี้ คือ ในช่วงแรก อัตราภาษีจะอยู่ที่ร้อยละ 25 ของอัตราภาษีที่ต้องจ่ายจริง แล้วจึงเพิ่มอัตราภาษีมากขึ้น จนกระทั่งเต็มตามอัตราภาษีที่ต้องจ่ายในที่สุด เงื่อนไขนี้จะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสปรับตัว เพราะเป็นการเพิ่มภาระภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งผมเห็นว่า ไม่ควรดำเนินการในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้ตกต่ำลงอีก แต่ควรบังคับใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีหลักการที่ดี เพราะเป็นการกระจายรายได้ ความเจริญ และโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน แต่การเก็บภาษีทรัพย์สินมีรายละเอียดที่ต้องออกแบบอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์ยอดแหลมนิวส์
เมื่อ: 
2007-07-16