?ทักษะทางสังคม? ใครว่าไม่สำคัญ

สภาพครอบครัวไทยในปัจจุบัน มักเป็นครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับบุตรหลานมากนัก เนื่องด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน อีกทั้ง สภาพความห่างเหินแปลกแยกระหว่างคนในสังคมที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันโดยไม่เคยแม้แต่จะพูดคุย และทำให้คนในชุมชนและสังคมมีปัญหาสายสัมพันธ์ที่อ่อนแอลง มีลักษณะต่างคนต่างอยู่และสภาพการมีน้ำใจต่อกันลดลง ซึ่งต่างจากสังคมไทยสมัยก่อน ที่ผู้คนมีค่านิยมยินดีช่วยเหลือเมื่อผู้อื่นเดือดร้อน มีน้ำใจให้แก่ผู้อื่นแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ค่านิยมนี้ได้เริ่มเปลี่ยนไปภายหลังจากที่ประเทศไทยพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย และการเปิดประเทศเพื่อการค้าการลงทุน
การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในชุมชนและสังคมเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจำนวนมากในปัจจุบัน ที่กลายเป็นผู้ที่ไม่สนใจปัญหาสังคม การเมือง มีชีวิตอยู่เพื่อตนเองเป็นหลัก ไม่สนใจสภาพสังคมส่วนรวมเท่าที่ควร และส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว มีทีวี เกม เป็นเพื่อน รวมทั้งในโลกยุคไซเบอร์หรือยุคไร้สายในปัจจุบันที่สร้างโลกเสมือนให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปหาเพื่อนคุยแก้เหงาในโลกเสมือนนี้แทนโลกแห่งความจริง
สภาพการณ์เหล่านี้ ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบขึ้นมานั้นมีทักษะในการเข้าสังคมที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเกิดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยทั้งต่อตัวเด็กเองและต่อสังคมในภาพรวม ทั้งนี้เนื่องจากทักษะสังคมเป็นทักษะที่นำมาซึ่งความสุขและเป็นใบเบิกทางแห่งความสำเร็จในชีวิต เปิดให้เกิดมิตรภาพ เปิดประตูสู่มิตรภาพและโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนในสังคม
ทักษะสังคมจึงเป็นทักษะสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญเพื่อเป็นรากฐานสำคัญอันนำมาซึ่งความสุขความสำเร็จในชีวิตเมื่อเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณชนของประเทศอังกฤษพบว่า การมีทักษะในการเข้าสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเหลือเด็กให้ประสบความสำเร็จในอนาคต แตกต่างความเชื่อที่ผ่านมาที่มองว่าความสามารถในการเรียนในชั้นเรียนเท่านั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของเด็ก
ทักษะสังคม (social skills)เป็นกลุ่มของทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างกันในสังคม อันได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การทำงานร่วมกันเป็นทีม ฯลฯ รวมทั้งความสามารถในการเข้าใจถึงสถานการณ์ที่หลากหลาย กฎกติกาต่าง ๆ ในสังคม ความสามารถในการรู้จักผู้อื่น และการคิดคำนึงถึงคนรอบข้างอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกให้เกิดขึ้นเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกเพศทุกวัย ทั้งวัยเด็กที่ต้องการการพึ่งพา การเรียนรู้สิ่งใหม่ในชีวิต วัยรุ่นที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูงคนรอบข้าง วัยผู้ใหญ่ที่เริ่มสร้างครอบครัวและต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทักษะสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ
แนวทางสร้างและพัฒนาเด็กให้มีทักษะทางสังคม ต้องเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย โดยมีแนวทางหลักดังนี้
สร้างมิตรภาพ โดยการริเริ่มผูกมิตรและหยิบยื่นไมตรีจิตให้กับผู้อื่นก่อนเสมอทั้งต่อเพื่อนฝูง ครูอาจารย์เช่น การยิ้มอย่างจริงใจเข้าไปแนะนำตัวแสดงความรู้จักกับผู้อื่นการเรียนรู้จักการเป็นผู้ให้มากกว่าที่จะเป็นผู้รับฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามหากเด็กค่อนข้างมีบุคลิกขี้อาย ควรช่วยเหลือเด็กโดยการเป็นผู้นำการสนทนาริเริ่มให้เด็กได้รู้จักกับเพื่อน ๆ หรือคุณครูก่อนจนคุ้นเคยและสามารถสานสัมพันธ์ต่อไปได้ รวมถึงให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยผ่านเหตุการณ์จริงหรือเหตุการณ์สมมติ เช่น ผ่านการเล่าเรื่องจากนิทานสอนใจ การยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริง การสอนให้คิดถึงผู้อื่นโดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วร่วมกันสรุปเป็นหลักการสอนเด็กในภาคปฏิบัติ ทั้งพฤติกรรมการแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำเพื่อพัฒนาทักษะสังคมด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในชีวิต
เรียนรู้จักกิจกรรมและทำงานเป็นทีม กิจกรรมในการสอนเด็กให้มีทักษะทางสังคมมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ครูต้องเลือกให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น กิจกรรมสำหรับเด็กวัยอนุบาล 3-5 ปี เป็นวัยที่ต้องเน้นกิจกรรมที่สนุกสนาน และน่าตื่นเต้น เช่น การเดินสำรวจธรรมชาติเป็นกลุ่ม การเล่นงูกินหาง การเต้นรำและร้องเพลงร่วมกัน ฯลฯ กิจกรรมสำหรับเด็กประถมศึกษา-12 ปี เช่น จับกลุ่มให้มาแสดงละคร จับกลุ่มให้เด็ก ๆ ค้นหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอหน้าชั้นเรียน การเล่นแชร์บอล ฯลฯ และกิจกรรมสำหรับวัยรุ่น (Teenage Challenge) ที่มีอายุ 13-17 ปี เป็นช่วงวัยที่เริ่มเข้าสังคมมากขึ้น ชอบทำกิจกรรมที่ความสนุกสนานและท้าทายความสามารถ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตั้งค่ายพักแรม ฝึกถ่ายทำวีดีโอ ฯลฯ ที่มีอายุ 6ที่มีอายุ
เรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่นและชุมชน ควรส่งเสริมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างหรือทำกิจกรรมของโรงเรียน ผ่านการเข้าร่วมโครงงานพัฒนาชุมชนหรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกับกองทุนเวลาเพื่อสังคม ที่ผมเป็นประธาน โดยแนวคิดนี้คือ ทำดีได้ไม่ต้องใช้เงิน ด้วยการที่แต่ละคนบริจาคเวลาในการทำความดีเพียงเดือนละ 3 ชั่วโมง อันเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ปลูกฝังการเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีส่วนหล่อหลอมการมีจิตสาธารณะ ไม่ไปข้องแวะกับการใช้เวลาไม่เหมาะสมที่ก่อเกิดปัญหา อีกทั้งส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมโดยจัดระบบงานอาสาสมัคร เพื่อมีส่วนพัฒนาการเรียนรู้คนเมือง เช่น เยี่ยมเยียนสถานสงเคราะห์ ร่วมสอนและพัฒนาความรู้ให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส การช่วยงานในศูนย์บริการสาธารณสุข การร่วมรนณรงค์การประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ldquo;ทักษะสังคมrdquo; เป็นทักษะสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ และครู ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทย ร่วมกับทักษะด้านอื่น ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่ความสุขความสำเร็จของเด็กต่อไปในอนาคต รวมทั้งเพื่อการปฏิบัติต่อกันในสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสมอันเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมในภาพรวม
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2008-06-03