เบนาซีร์ บุตโต แบบอย่างการปรับตัว

เหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อปลายปี ค.ศ.2007 ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นข่าวการลอบสังหาร นางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของปากีสถาน ในขณะกำลังหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ.2008 ข่าวการเสียชีวิตของนางเบนาซีร์ ได้สร้างความเศร้าสลดแก่คนทั่วโลก ที่เฝ้าติดตามความสำเร็จของผู้นำหญิงคนนี้ รวมถึงประชาคมฮาร์วาร์ด ที่ได้สูญเสียศิษย์เก่าคนสำคัญไปอีกคนหนึ่ง
ชีวิตในรั้วฮาร์วาร์ดของนางเบนาซีร์ บุตโต นับว่ามีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กสาวอายุ 16 ปี ที่มีนิสัยขี้อาย ถูกเลี้ยงดูมาอย่างทะนุถนอมจากครอบครัวชนชั้นนำชาวมุสลิม แต่ภายใน 4 ปีของการเรียนในฮาร์วาร์ด ทำให้เธอได้รับการหล่อหลอม จนสามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพนักการเมืองด้วยวัยเพียง 35 ปี
คำกล่าวหนึ่งที่นางบุตโตได้กล่าว เมื่อเธอกลับมาเยือนมหาวิทยาลัยนี้อีกครั้ง เมื่อปี ค.ศ.1997 ในฐานะผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุด และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของปากีสถานว่า ldquo;เวลา 4 ปีที่อยู่ในฮาร์วาร์ด นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่งrdquo; ได้สะท้อนแง่คิดจากการใช้ชีวิตนักศึกษาของเธออย่างคุ้มค่าในฮาร์วาร์ด
ความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 4 ปีของการเป็นนักศึกษานั้น เกิดขึ้นมาจากการที่นางบุตโตได้ทะลายกำแพงความเป็นคนขี้อาย ความรู้สึกว่า ตนเองเป็นนักเรียนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม โดยทำตัวให้กลมกลืนกับฮาร์วาร์ด เช่น การพยายามออกไปพบปะ พูดคุยกับผู้คน ตามสถานที่ต่าง ๆ ร่วมสังสรรค์กับเพื่อนนักศึกษาต่างวัฒนธรรม และทำขนมเค้กไปร่วมในงานวันเกิดของเพื่อนสนิทเสมอ
นอกจากกิจกรรมนอกห้องเรียน ที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จ ในการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนหลายเชื้อชาติแล้ว ในเรื่องการเรียนนับว่าเธอเป็นนักเรียนรู้ที่ไม่เป็นรองใคร เห็นได้จากเธอจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยม ในสาขาการเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Government) จากวิทยาลัยเรดคริฟฟ์ (Radcliffe College) และภายหลังจากสำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ดเธอได้หันไปเรียนวิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อที่ประเทศอังกฤษ เช่น ปรัชญา กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์
สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นคนที่เปิดกว้างทางความคิด มีหัวใจที่เป็นประชาธิปไตย เห็นคุณค่าของคนในสังคมมากขึ้น เป็นที่มาของคำกล่าวที่เธอให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฮาร์วาร์ดคริมสัน เมื่อปี ค.ศ. 1998 ว่า ldquo;ช่วงเวลา 4 ปีในฮาร์วาร์ด เป็นพื้นฐานที่หล่อหลอมความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นrdquo;
ประสบการณ์และการหล่อหลอมจากประชาคมฮาร์วาร์ดที่มีพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างเช่นนี้ ส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของเธอในช่วงเวลาต่อมา คือ เมื่อเธอก้าวสู่ถนนการเมือง เธอได้สร้างกระแสใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม จนได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก โดยการนำเสนอแนวคิด นโยบาย รวมถึงกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียมให้กับสตรีในประเทศปากีสถานที่แต่เดิมนั้นผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ทั้งในแง่สวัสดิภาพ และสุขอนามัย รวมถึงการจำกัดสิทธิและถูกกีดกันออกจากสังคม
ข้อคิดที่ได้จากนางบุตโตนั้นถือได้ว่า เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักศึกษา ในการตักตวงประสบการณ์ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้จบลงเพียงแค่ห้องเรียน แต่เป็นการขยายประสบการณ์ชีวิตไปยังมุมมองใหม่ วัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่าง อันเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องเป็นผู้ออกไปแสวงหา และค้นพบด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นจาก
การปรับทัศนคติ เปิดใจรับข้อมูล เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติจากแง่มุมหนึ่ง ไปสู่อีกมุมหนึ่งที่แตกต่างได้ เพื่อสามารถปรับตัวเราให้สามารถเข้ากับบริบททุกอย่างที่ เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทุกที่ทุกเวลาทุกคนทุกสถานการณ์ได้ เช่น การยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น การให้เกียรติผู้อื่น การไม่สร้างความขัดแย้ง การยอมรับกันและกันในความแตกต่าง
การแสวงหาประสบการณ์ใหม่นอกห้องเรียน เป็นผู้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวในทุกที่ทุกเวลา เพื่อเป็นการค้นหา และเสริมสร้างทักษะตามความถนัด ความชอบของตนเอง โดยอาจจะเรียนรู้จากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จาก การสังเกต การพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกับบุคคลต่าง ๆ การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ
การสร้างทักษะทางสังคม เป็นการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีความสุขใจ ได้รับการยอมรับ ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทุกรูปแบบผสมผสานกันอย่างลงตัว เช่น การสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสาร การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การทำงานเป็นทีม การปรับตัว มารยาทในสังคม ฯลฯ
สิ่งสำคัญที่สุดในการตักตวงประสบการณ์นอกห้องเรียนนั้นคือ การมีเป้าหมายว่าจะ นำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับความรู้ที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคม ทำให้คนในสังคมได้ประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่า ผดุงสิทธิมนุษยชน ธำรงความยุติธรรม และกระตุ้นให้มนุษยชาติได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเสมอภาคด้วยมีความรักและเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเป็นแกนกลาง
การใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นประสบการณ์อันมีคุณค่า ที่ผู้เรียนแต่ละคนจะแสวงหาช่องทางในการตักตวงประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ของตนเอง การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ควรรู้จักปรับตัวทั้งในด้านความคิด สติปัญญา และลักษณะนิสัยที่ดี ซึ่งจะเป็นประตูบานสำคัญที่จะเปิดไปสู่เส้นทางที่จะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-04-20