เปิดหลักสูตรใหม่ ?ผู้ประกอบการเพื่อสังคม?
ปัญหาสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และรุนแรงขึ้น การหวังให้ภาครัฐเป็นตัวแสดงหลักในการแก้ปัญหาสังคมคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการทำงานภาครัฐไม่มีความคล่องตัว ไม่มีความต่อเนื่อง และเน้นแก้ปัญหาในจุดที่มีผลต่อฐานคะแนนเสียงมากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสังคม
ขณะที่การคาดหวังให้ภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคมเป็นไปได้ยากเช่นกัน เนื่องจากเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือ การแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือสังคม อย่างไรก็ตามแม้ว่าอาจมีบางธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยทำกิจกรรมที่เรียกว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility อยู่บ้างก็ตาม แต่ปัจจุบัน ลักษณะการทำ CSR ของธุรกิจที่มีในประเทศส่วนใหญ่นั้น มีเป้าหมายเพื่อการโฆษณา หรือสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรมากกว่า
ครั้นจะฝากความหวังไว้กับภาคประชาสังคม หรือ NGOs คงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันภาคประชาสังคมของไทยไม่เข้มแข็ง และยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เนื่องจากยังขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ NGOs บางแห่งที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศนั้น การดำเนินงานมักเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุน มากกว่าจะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง
ผมจึงขอเสนออีกทางเลือกหนึ่ง ที่อาจเป็นความหวังในการแก้ปัญหาสังคม นั่นคือ ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; ซึ่งผมเคยได้แบ่งปันแนวคิด ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo;ผ่านทางบทความในหนังสือพิมพ์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-letter) และยังเผยแพร่ใน www.bloge/oknation.net/kriengsak ได้มีผู้ที่สนใจแนวคิดนี้จำนวนไม่น้อย ซึ่งส่วนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจกลับมายังผมด้วย ผมจึงอยากนำแนวคิดนี้อีกครั้งในมุมของการศึกษา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากขึ้น
แนวคิด ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้ประสานระหว่างความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน
ลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงมีความพิเศษ เพราะนอกจากจะมีความสามารถในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้ว ในตัวของผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังมีความสนใจปัญหาสังคมและต้องการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา โดยใช้ธุรกิจของตนเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้การสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาสังคมที่ตนเองสนใจ หรือเพื่อให้ความตั้งใจที่จะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นนั้น สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
เมื่อหันมามองในประเทศไทย ยังไม่มีบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมจำนวนมากนัก อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษาไทย ยังไม่มีหลักสูตรเกี่ยวกับ ldquo;การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; อย่างเจาะจง ขณะที่ในต่างประเทศ การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมมิใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่ได้เปิดการเรียนการสอนและเปิดศูนย์ศึกษาในด้านผู้ประการเพื่อสังคมมานานแล้วในหลายแห่ง อาทิ
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) วิทยาลัยธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) มีโปรแกรม Social Enterprise Initiative ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดการเรียนการสอนด้านผู้ประกอบการเพื่อสังคมเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างค่านิยมให้แก่บุคคลหรือองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีค่านิยมไม่เพียงแค่การแสวงหาผลกำไรสูงสุดเท่านั้น แต่เพื่อการทำธุรกิจเพื่อสังคมโดยตนเองสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้
มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford University) มีศูนย์สำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคมโดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า Centre for Social Entrepreneurship ภายในศูนย์นี้จะมีทั้งทฤษฎีและการวิจัย เพื่อสนับสนุนแนวคิดของผู้ประกอบการเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) มีศูนย์ทีเรียกว่า Center for the Advancement of Social Entrepreneurship (CASE) เป็นศูนย์ที่ให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่นักศึกษาสาขาบริหารธุรกิจหรือ MBA
มหาวิทยาลัยซีเอทเทิล (Seattle University) มีศูนย์ Center for Nonprofit and Social Enterprise Management โดยศูนย์นี้จะจัดกิจกรรม ปลูกฝังค่านิยมผู้ประกอบการทางเพื่อสังคมให้แก่คนในสังคม และสนับสนุนผู้นำที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) วิทยาลัยธุรกิจของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia Business School) มีโปรแกรม Social Enterprise Program นักศึกษาที่เข้ามาเรียนโปรแกรมนี้ จะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในหลายประเภท ที่สามารถสนับสนุนงานด้านการพัฒนาสังคม
มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) วิทยาลัยการบริหารของมหาวิทยาลัยเยล (Yale School of Management) มีโปรแกรม Program on Social Enterprise (PSE) เป็นโปรแกรมที่ให้การสนับสนุนข้อมูลแก่นักศึกษา องค์กรภาครัฐ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีความสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการทำธุรกิจและสังคม
วิทยาลัยโรเบิร์ตส์ เวสลีเยน (Roberts Wesleyan Collage) มีสถาบันการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม หรือที่เรียกว่า Institute for Social Entrepreneurship สถาบันนี้จะมีการจัดสัมมนา ประชุมระดมความคิดเห็น และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการทางสังคม ทั้งในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก อีกทั้งมีการจัดทำหนังสือหรือเอกสาร เกี่ยวกับผู้ประกอบการทางสังคมอีกด้วย
มหาวิทยาลัย Pace University มีศูนย์ Helene amp; Grant Wilson Center for Social Entrepreneurship เพื่อสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการให้แก่มหาวิทยาลัย กลุ่มประชาคมที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีความต้องการที่จะเพิ่มศักยภาพตนเองจนสามารถมีผลต่อสังคมในภาพรวม
ตัวอย่างที่ยกมากล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักสูตร โปรแกรม และศูนย์สอนการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเปิดสอนเกี่ยวผู้ประกอบการเพื่อสังคม ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดสอนให้กับนักศึกษาที่เรียนในด้านการบริหารธุรกิจ และสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งสามารถดึงความสนใจของนักศึกษาที่ต้องการทำธุรกิจหรืออยากเป็นผู้ประกอบการให้หันไปสนใจการแก้ไขปัญหาสังคมด้วย
นักศึกษาที่เข้ามาเรียนจะถูกฝึกฝนให้เป็นนักธุรกิจ เพื่อสามารถเขียนแผนธุรกิจของตน โดยตัวธุรกิจนั้นต้องไม่ทำร้ายสังคม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข หรือ กิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ธุรกิจนั้นจะต้องสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเติบโตมีกำไรเหมือนกับธุรกิจทั่วไป มากยิ่งกว่านั้น แผนธุรกิจนั้นไม่ได้มีเป้า
หมายหลักเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดแก่องค์กร แต่นำกำไรที่ได้สนับสนุนงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
ถึงแม้การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมในประเทศไทยจะยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำได้จริง แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีคนที่มีความตั้งใจดี และมีศักยภาพที่อยากเห็นปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผมขอเสนอแนวทางเป็นเบื้องต้นว่า การสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นที่สร้างคน ทั้งนี้อาจจัดตั้งเป็นคณะหรือสาขาหรือหลักสูตรใหม่ เช่น Master of Social Entrepreneur หรือร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ได้
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมขึ้นมาให้มีจำนวนมาก เพื่อเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาสังคม แม้แนวทางนี้ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำได้จริง แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีคนที่มีความตั้งใจดีและมีศักยภาพที่อยากเห็นปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Catagories:
เผยแพร่:
การศึกษาวันนี้
เมื่อ:
2007-07-19
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อธรรมาภิบาลสั่นคลอน: บทเรียนและทางออกสำหรับตลาดทุนไทย
Total views: อ่าน 36 ครั้ง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 63 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 247 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 224 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 284 ครั้ง