อเมริกาปรับวิธีการสอนในโรงเรียน
ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของโลก กลับมีการวิจารณ์ว่า สภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ใช้วิธีสอนด้วยเอกสาร และให้ผู้เรียนทำการบ้านส่ง โดยกรอกคำตอบในเอกสาร การเรียนลักษณะดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลาเพราะไม่ได้เป็นการพัฒนานิสัยรักการอ่านให้ผู้เรียน ทั้งยังทำให้ผู้เรียนขาดการพัฒนาทักษะการคิด การจินตนาการ และความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามอีกว่า ldquo;อะไรที่โรงเรียนไม่ได้สอน?rdquo;คำถามนี้มีขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อเล็กซ์ โมลนาร์ (Alex Molnar) ได้สำรวจความคิดเห็นของครูและผู้บริหาร โดยนำเสนอในวารสาร Social Education เมื่อพฤษภาคม 1983 ไว้ว่าหัวข้อใดบ้างที่ควรสอนในโรงเรียน ซึ่งผลสำรวจพบว่า หัวข้อที่ควรนำมาสอนในห้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ อาวุธนิวเคลียร์ การทำลายสิ่งแวดล้อม ความยากจน เชื้อชาติ เพศศึกษา พันธุวิศวกรรม การดำรงอยู่ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา สังคมเศรษฐกิจ และโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตาม พบว่าจนถึงปัจจุบัน ประเด็นข้างต้นยังไม่มีการเรียนการสอนมากนักและไม่ได้กำหนดเป็นหลักสูตรชัเจน จึงเกิดคำถามต่อเนื่องว่า หากผู้เรียนไม่ได้รับการสอนในเรื่องเหล่านี้ ldquo;อเมริกาจะเตรียมคนให้อยู่รอดและสามารถรักษาความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร?rdquo;
จากข้อวิจารณ์และคำถามดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์สตีเวน วอล์ค (Steven Wolk) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น อิลลินอยส์ (Northeastern Illinois University) ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเห็นว่า หากสหรัฐอเมริกายังต้องการเป็นประเทศที่มีอำนาจ โรงเรียนไม่ควรเป็นเพียงสถานที่ที่กำหนดความสำเร็จในหน้าที่การงานหรืออัตราเงินเดือน แต่ควรเป็นที่ที่กำหนดว่า ldquo;ผู้เรียนจะเป็นใครในอนาคตrdquo; โดยดำเนินการในสิ่งต่อไปนี้
สร้างผู้เรียนให้รักเรียนรู้ ปัจจุบันโรงเรียนในสหรัฐฯ มักใช้ในสิ่งที่เรียกว่า School Thing หรือ เอกสารประกอบการเรียน โดยไม่พยายามฝึกให้เด็กอ่านหนังสือด้วยตนเอง หากโรงเรียนยังจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ต่อไป ย่อมล้มเหลวในการสร้างผู้เรียนให้มีความรู้และศักยภาพในการเรียนรู้ ดังนั้น โรงเรียนควรปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนใหม่ ที่เน้นสร้างผู้เรียนให้รักการเรียนรู้ โดยแนวทางสร้างความสามารถเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในผู้เรียน ควรเกิดจากการที่ผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็นด้วยตนเอง ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม การเมือง คุณธรรมจริยธรรม โดยปล่อยให้ผู้เรียนมีแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นของตนเอง โรงเรียนและผู้ปกครองเพียงแค่ดูแลควบคุมให้การเรียนรู้ของผู้เรียนให้อยู่ในทางที่ถูกต้อง และสนับสนุนผู้เรียนให้ริเริ่มที่จะเรียนรู้บางเรื่องอย่างต่อเนื่อง เช่น การอนุญาตให้ผู้เรียนเลือกหนังสือที่ต้องการอ่านด้วยตัวเอง ปล่อยให้ผู้เรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือให้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในการศึกษาหัวข้อที่สนใจจากห้องสมุด เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขียนในสิ่งที่อยากเรียนรู้ รวมถึงสร้างสรรค์โครงการที่พวกเขาสนใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนเคารพในสติปัญญาและความแข็งแกร่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
กำหนดหัวข้อที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันและสถานการณ์โลกไว้ในหลักสูตร โดยเฉพาะหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทักษะการคิด การสร้างจิตสำนึกที่ดีงาม คุณธรรมจริยธรรม และสถานการณ์เกี่ยวกับโลก เช่น
การเงิน ครอบครัว อาหารและความสุขชีวิตประจำวันของผู้เรียนเกี่ยวข้องกับเงิน ครอบครัว อาหาร และความสุขอยู่แล้ว การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ในเชิงลึกย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญ การสอนในห้องเรียนควรตั้งคำถามและคำตอบเกี่ยวกับปัจจัยที่จำเป็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเงิน ครอบครัว อาหาร และความสุข เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต
สังคมที่หลากหลายทางวัฒนธรรมจำเป็นที่โรงเรียนแต่ละแห่งควรสอนเรื่องการยอมรับความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และชนชั้น อาจทำได้โดยการสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของแต่ละสังคม วัฒนธรรมสากลที่ควรปฏิบัติต่อกันและกัน การที่ผู้เรียนเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายจะทำให้ผู้เรียนไม่ตัดสินคนอื่นจากการกระทำที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม เป็นต้น
ความรอบรู้เรื่องการต่างประเทศ การเรียนรู้เกี่ยวกับต่างประเทศของโรงเรียนในสหรัฐฯ ถือว่าน้อยมากและที่น่าตกใจคือ ปัจจุบันวัยรุ่นอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ประมาณร้อยละ 63 ไม่รู้ว่ามีประเทศอิรักบนแผนที่โลก ทั้งที่สหรัฐอเมริกาเคยผ่านสงครามอิรักมาเมื่อไม่กี่ปี หากผู้เรียนไม่มีความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในต่างประเทศหรือสถานการณ์ระดับโลก ย่อมไม่สามารถเข้าไปมีส่วนต่อการตัดสินใจในนโยบายต่างประเทศในฐานะที่สหรัฐเป็นผู้นำโลกเสรีได้
ความรู้เท่าทันสื่อในชีวิตประจำวัน จากการวิจัย เด็กอเมริกันอายุระหว่าง 8-18 ปี ใช้เวลากับสื่อโดยเฉลี่ยประมาณ 6 ชั่วโมง 21 นาที ต่อวัน ผ่านการใช้อินเทอร์เน็ต รายการโทรทัศน์ วิทยุ MP3 ดีวีดี วีดีโอ และช่องทางอื่น ๆ ภายใน 1 ปี พบว่า เด็กอเมริกันดูโฆษณาประมาณ 2 หมื่นครั้ง เห็นความรุนแรงผ่านโทรทัศน์ 2 แสนครั้ง ดังนั้น โรงเรียนควรสอนให้ผู้เรียนรู้จักการเข้าถึงสื่อที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างพลังการเรียนรู้แก่ผู้เรียนไม่ใช่การตกเป็นเหยื่อของสื่อได้ง่าย
ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับด้านศิลปะเท่านั้น แต่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางความคิดและการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ดังนั้น โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน และทำกิจกรรมนอกห้องเรียน การสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เท่ากับว่าได้สร้างสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นให้กับตนเองและโลก
ความรับผิดชอบต่อสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นสิทธิเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับหน้าที่และความเท่าเทียมกันของคนในสังคมด้วย ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบที่คนในสังคมควรมีต่อกัน การที่โรงเรียนสอนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้ผู้เรียน เท่ากับว่าเป็นการรับผิดชอบสังคมไปด้วย
จิตสำนึกเรื่องสันติภาพ การไม่ใช้กำลังและความรุนแรงในสหรัฐฯ มีความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในปี 2005 เกิดคดีอาชญากรรมประมาณ 1.4 ล้านคดีประกอบไปด้วยคดีทำร้ายร่างกาย 863,000 คดี คดีปล้น 417,000 คดี คดีฆาตกรรม 16,700 คดี เพิ่มจากปี 2004 ที่มี 847,000 คดี 401,000 คดี และ 16,000 คดี ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเข้ามีส่วนร่วมสงครามในต่างแดนหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งล้วนนำมาซึ่งความสูญเสีย ดังนั้น โรงเรียนต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และใช้วิธีสันติในการแก้ไขความขัดแย้ง
ดังข้างต้น แสดงนัยถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้เห็นความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนการสอนในโรงเรียนให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่เชื่อมโยงสู่สังคมระดับโลกอย่างเท่าทัน
การจัดการศึกษาของไทยก็เช่นเดียวกัน มีสภาพการเรียนการสอนที่ยึดสาระตามหน่วยการเรียนรู้เป็นหลัก ซึ่งมีเนื้อหาสาระมาก ทำให้ครูกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาการสอน จึงใช้วิธีป้อนข้อมูลความรู้ให้ผู้เรียน การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จึงลดทอนลง ผลประเมินภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปี 2548 พบว่า ผู้เรียนมีความสามารถคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์ เพียงร้อยละ 11 และมีทักษะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเพียงร้อยละ 26.5 นอกจากนี้จากการวิจัยสำรวจหลายสำนักพบว่า เด็กไทยไม่รู้จักการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ขาดจิตสาธารณะหรือความรับผิดชอบต่อสังคม การยอมรับความแตกต่างมีน้อย และมักใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
ปัญหาความรุนแรงในเด็กไทยสถาบันรามจิตติ จัดทำการสำรวจพฤติกรรมเด็กไทยทั่วประเทศปี 2549 ภายใต้โครงการ Child Watch พบว่า มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาประมาณ 7 ล้านคน เคยถูกตบ ตี และเตะจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และประมาณ 7 แสนคน (1 ใน 10 คน) ถูกทำร้ายร่างกายภายในโรงเรียน นอกจากนี้ มีนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมตั้งตัวเป็นแก๊ง ข่มขู่รีดไถเงินเพื่อนในโรงเรียน พฤติกรรมดังกล่าวได้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและแก้แค้นด้วยความรุนแรง
ดังข้างต้นจะเห็นได้ว่า เด็กไทยมีปัญหาหลายประการที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการคิด ลักษณะชีวิตที่สำคัญ ๆ ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมาได้ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องควรหันมากำหนดเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนที่ชัดเจนที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่ด้านวิชาความรู้ แต่เน้นลักษณะชีวิตที่สำคัญ ๆ และหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยปรับเนื้อหาและรูปแบบวิธีการสอนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนา ให้ผู้เรียนปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในสังคมไทยและระดับโล
Tags:
เผยแพร่:
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ:
2008-02-26