ทิศทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง
คงไม่มีใครคาดคิดสภาพสังคมการเมืองไทยในช่วงปี 2549 ndash; 2550 จะมีลักษณะเป็นเช่นนี้ นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2544 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ในปี 2548 หลังจากนั้นสังคมการเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ตั้งแต่การต่อต้านจากนักวิชาการในเรื่องนโยบายประชานิยมที่จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ประเทศในอนาคต เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาลทักษิณจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเนื่องด้วยความไม่ไว้วางใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และประกาศให้มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2549
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่กำหนดให้มีขึ้นในเดือนเมษายนนั้น พรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว ต่อมามีการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเลือกตั้งดังกล่าวเนื่องจากไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน2549 เป็นโมฆะ ต่อมาเกิดเหตุการณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยมีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศ และมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยอยู่ที่คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจากกลุ่มคนรักทักษิณ
สิ่งที่กล่าวข้างต้นคงเป็นบทสรุปเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปีสองปีที่ผ่านมา ขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลสุรยุทธ์ ต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ มากมาย[1] ตั้งแต่ มิติว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองในประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง อนาคตของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารจนเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง ขณะที่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลชุดที่แล้วก็ถูกจับตามองว่าจะจบลงอย่างไร ส่วนมิติทางเศรษฐกิจก็เผชิญกับความซบเซาและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และมิติทางสังคมที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วหลายพันคน
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงน่าสนใจว่าสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะมีลักษณะอย่างไร บทความนี้จะแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือสังคมการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ส่วนที่สองคือเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง : รุ่งหรือร่วง ซึ่งเป็นการคาดการณ์หรือมองไปในอนาคตข้างหน้า โดยมีสถานการณ์ปัจจุบันเป็นข้อมูลเบื้องต้นระดับหนึ่งในการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ ดังต่อไปนี้
1. สังคมการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง
ก. รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2550 หรือต้นปี 2551 มีการวิเคราะห์กันอย่างมากมายว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2548 หรือไม่ หรือจะเป็นรัฐบาลผสม แล้วรัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพและครบเทอมสี่ปีหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจและค้นหาคำตอบ ดังนี้
แม้พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบโดยคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ส่งผลทำให้กรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งใด ๆ เป็นเวลาทั้งสิ้น 5 ปี แต่นักการเมืองเหล่านี้คงไม่ได้หยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเลิกเล่นการเมืองแต่ประการใด โดยอาจอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนกลุ่มพวกพ้องหรือญาติของตนลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมีการประชุมพรรคหลังคดียุบพรรค พบว่ามีอดีตกรรมการบริหารพรรคและอดีต ส.ส. ร่วมชุมนุมเกือบ 300 คน ซึ่งแสดงถึงความสามัคคีภายในพรรคอย่างเหนียวแน่น ถึงแม้ว่าจะมีนักการเมืองบางคนบางกลุ่มถอนตัวจำนวน 50 - 70 ออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มพรรคไทยรักไทยอาจจัดตั้งชื่อพรรคการเมืองใหม่ (ขณะที่เขียนบทความยังไม่ทราบชื่อพรรค) ลงสนามการเลือกตั้งอีกครั้งโดยจะชูนโยบายที่ต่อเนื่องจากปี 2544 และ 2548 และต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่น ๆ อย่างเข้มข้น หากประชาชนซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยจำนวน 14 ล้านคน ยังคงสนับสนุนและไว้วางใจในนโยบายประชานิยมของกลุ่มพรรคไทยรักไทย เมื่อประเมินคร่าว ๆ โดยยึดหลักจำนวนอดีต ส.ส. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โอกาสที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. 200 ndash; 300 คน ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากกลุ่มไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งจำนวน 200 คน คงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่อาจจะช่วงชิงในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเชิญพรรคการเมืองอื่น ๆ (พรรคมัชฌิมา พรรคคุณสุวัจน์ กลุ่มรวมใจไทย ฯลฯ) เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ถ้าได้รับเลือกตั้งถึง 300 เสียง แน่นอนว่า ย่อมจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวดังเช่นในปี พ.ศ.2548
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเดิม ซึ่งประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคการเมืองดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ผู้มีชื่อเสียงทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาร่วมทำงานกับพรรค ยิ่งไปกว่านั้น จะขันอาสามารับใช้ประชาชนด้วยนโยบายก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เมื่อคำนวณจากฐานเสียงและจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งในปี 2548 ประเมินแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะได้รับเลือกตั้งมากกว่าปี 2548 ด้วยจำนวนประมาณ 180 ndash; 240 คน ด้วยจำนวน ส.ส. ดังกล่าวก็คงไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลผสม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชิญพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ดังนั้น พรรคที่น่าจับตาและส่งผลในทางการเมืองมากที่สุดคือ พรรคมัชฌิมา พรรคของคุณสุวัจน์ กลุ่มรวมใจไทย และพรรคประชาราช ซึ่งมีแกนนำและอดีตแกนนำของพรรคไทยรักไทยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง โดยดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในทางสายกลาง สมานฉันท์ และสร้างสรรค์ กล่าวคือ พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการทำงานและพัฒนาประเทศ เมื่อประเมินจากอดีต ส.ส. น่าจะได้รับเลือกตั้งประมาณ 40 ndash; 80 คน ซึ่งพรรคเหล่านี้จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะสนับสนุนขั้วการเมืองใดขั้วการเมืองหนึ่งจนสามารถนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้
กล่าวโดยสรุป มีโอกาสที่กลุ่มไทยรักไทยสามารถที่จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสม ในทางตรงข้าม พรรคฝ่ายค้านเดิมอาจจะเกาะกลุ่มกันและเชื้อเชิญพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม (โดยมีพรรคมัชฌิมา พรรคคุณสุวัจน์ กลุ่มรวมใจไทย พรรคประชาราช เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง) ซึ่งน่าจะเป็นรัฐบาลผสม 3 - 5 พรรคการเมือง ที่พยายามรวบรวมให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 280 ndash; 320 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 480 คน
อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือ จะเกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ในการบริหารประเทศ และจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร
ที่ผ่านมา นักรัฐศาสตร์ได้ศึกษาพรรคการเมืองที่ดำเนินการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้พบข้อสรุปสำคัญหลายประการ ดังนี้ [2]
1. พรรคการเมืองเข้าแข่งขันเลือกตั้งเพราะต้องการจะเสริมพลังความเข้มแข็งของพรรค และเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส. ในสภาให้มีจำนวนมากที่สุด
2. เมื่อพรรคการเมืองรวมตัวกันเป็นรัฐบาลผสมแล้ว บางพรรคสนใจในด้านที่จะหาทางได้เปรียบจากการเลือกตั้งครั้งต่อไปจากการอยู่ของรัฐบาลผสม ยิ่งกว่าที่จะปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐบาลผสม
3. พรรคการเมืองจะอยู่ร่วมในรัฐบาลผสมตราบเท่าที่หัวหน้าพรรคยังเห็นว่าพรรคของตนไม่ขาดทุน (เสียหาย) จากการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมนั้น หรือ ถ้าพรรคนั้นพิจารณาเห็นว่า พรรคกำลังขาดทุนจากการร่วมอยู่ในรัฐบาลผสมก็จะถอนตัวออกจากการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เป็นปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลผสมบริหารประเทศไม่ครบวาระ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาล รมว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 2518, รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ 2522, รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 2523-2529, รัฐบาลพลเอกชาติ ชุณหะวัน 2531 , รัฐบาลนายชวน หลีกภัย 2535,รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา 2539และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ 2540
ดังนั้น หากพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งปี 2550 ไม่ช่วยกันประคับประคองในการดำเนินนโยบายหรือแย่งชิงคะแนนนิยมจากประชาชน ย่อมจะทำให้รัฐบาลเกิดปัญหาและส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในทางใดทางหนึ่ง อาจส่งผลต่อการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือยุบสภาเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่อาจจะต่อต้าน ไม่เห็นด้วยในนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดใหม่ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองหรือใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลเกิดความสั่นคลอนและบริหารประเทศไม่ครบวาระเช่นเดียวกันไม่ว่ารัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมากเพียงใดก็ตาม
ข.การเมืองภาคประชาชน
ลักษณะเด่นหลายประการของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ การขยายสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเชื่อว่าภายหลังการเลือกตั้งประชาชนจะใช้สิทธิและเสรีภาพที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในหลายประการ อาทิ การเข้าชื่อ 50,000 คนเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา, การเข้าชื่อ 10,000 คนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ, การเข้าชื่อ 20,000 คนเพื่อขอยื่นถอดถอนนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง, การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ, การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง ฯลฯ ทั้งหมดจะทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากยิ่งขึ้นที่นอกเหนือจากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุก ๆ 4 ปี
ขณะเดียวกัน ปัญหาอื่นเนื่องจากโครงการพัฒนาของรัฐไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า สร้างเขื่อน การสร้างท่อก๊าซ การเปิดการค้าเสรี การตรากฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนรวมถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาคประชาชนออกมาประท้วงคัดค้านโดยการปิดท้องถนนหรือที่เรียกกันว่า ldquo;การเมืองบนท้องถนนrdquo;[3] ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ที่อาจเกิดความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตและทรัพย์สิน เพราะที่ผ่านมาหลายครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการเรียกร้องเรื่องดังกล่าว ไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการตั้งโต๊ะเจรจาในการทำประชาพิจารณ์ บางครั้งมีการปราบปรามอย่างไม่ระมัดระวังจนทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ หรือบางครั้งสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อร่างกฎหมายที่ประชาชนยื่นเข้ามา โดยยังไม่มีร่างกฎหมายใดที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและประกาศใช้เป็นกฎหมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายฝ่ายคงต้องช่วยกันติดตามผลบังคับใช้ในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นจริงเพียงใด ถูกละเมิดหรือไม่โดยตระหนักว่าการเมืองที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมย่อมทำให้การสังคมการเมืองไทยมีการพัฒนาและเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
ค.ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คงต้องยอมรับว่า ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับเป็นปัญหาที่น่าสะพรึงกลัวและกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นวันปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาค่ายปิหลง อ.เจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ใช้กำลังในการคร่าชีวิตผู้คนทั้งการยิง ระเบิด ฆ่าฟัน โดยมีเป้าหมายโจมตีเป็นทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีทั้งตำรวจและทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ครู เป็นจำนวนนับ 2,000 ชีวิต และบาดเจ็บนับ 3,000 คน
แม้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะพยายามปรับท่าทีที่แตกต่างไปจากรัฐบาลทักษิณ ในระหว่างการลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2549 ด้วยการกล่าวคำขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่จะไม่เติมเชื้อไฟในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการถอนฟ้องในคดีอาญาต่อจำเลยในเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งถือเป็นการใช้แนวทางการเมืองในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายขบวนการผู้ก่อเหตุอยู่ในปัจจุบันคือ ขบวนการ BRN-Coordinate[4] ซึ่งเป็นองค์กรหลัก ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อการปฏิวัติจัดตั้ง ldquo;รัฐปัตตานี ดารุสซาลามrdquo; ได้โต้ตอบมาตรการทางการเมืองของรัฐไทย ด้วยการใช้ยุทธวิธีก่อการร้าย โดยการใช้ซุ่มโจมตีและใช้อาวุธทำลายชีวิตและทรัพย์สินจนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าเดินทางหรือสัญจรไปไหน
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น นับเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งในเรื่องการใช้มาตรการหรือนโยบายทางการเมือง การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการดึงเข้ามาเป็นมวลชน การรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน และที่สำคัญอาจจะต้องใช้มาตรการเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการซึ่งจะบรรเทาความรุนแรงและการแบ่งแยกดินแดนลงได้
สำหรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมองเห็นว่าการแก้ปัญหาภาคใต้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล น่าจะต้องใช้เครื่องมือและมาตรการเพิ่มเติม[5] อันได้แก่ 1. สร้างความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของการสมานฉันท์ 2. ค้นหาความจริงและการคืนความยุติธรรมต่อเนื่องจากคำขอโทษ 3. สร้างกลไกเพื่อทำให้เกิดความไว้วางใจในพื้นที่ 4. ทำให้เขตพัฒนาพิเศษเป็นเขตที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จิรง 5. ดำเนินการเชิงรุกในการสร้างขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านและการต่างประเทศ และ 6. การวางกลไกที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการระดมสมอง ระดมกำลัง ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวกันอย่างจริงจัง แต่โอกาสที่จะดับไฟใต้ให้มอดดับลงได้นั้น ยังไม่สามารถรับประกันได้
ง.ทหารกับการเมือง
ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 75 ปี แต่เกิดปรากฏการณ์ของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร อาทิ รัฐประหาร 20 มิ.ย. 2476, รัฐประหาร 8 พ.ย.2490, รัฐประหาร 6 เม.ย.2491, รัฐประหาร 29 พ.ย. 2494, รัฐประหาร 16 ก.ย. 2500, รัฐประหาร 20 ต.ค. 2501, รัฐประหาร 17 พ.ย.2514, รัฐประหาร 20 ต.ค.2520, รัฐประหาร 23 ก.พ.2534 และครั้งล่าสุดคือรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และมีอีกหลายครั้งที่มีความพยายามจะยึดอำนาจแต่ไม่สำเร็จก็จะถูกเรียกว่าเป็น ldquo;กบฏrdquo; แทน สภาพการณ์ที่เห็นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเป็นยุคสมัยที่กองทัพใช้พลังอำนาจทางทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในประเทศตน กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทยหรือเป็น ldquo;ทหารการเมืองrdquo; ซึ่งจะถูกตั้งคำถามจากนานาประเทศว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายหลังการเลือกตั้งสังคมการเมืองไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะประชาธิปไตยและมีการพัฒนาทางการเมือง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ จะต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้คุมอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง ขณะเดียวกันกองทัพก็อยู่ในฐานะของการเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐในเรื่องการต่างประเทศและความมั่นคง และทำให้สถาบันกองทัพสนใจกิจการของสถาบันตนเป็นสำคัญเท่านั้น[6] และพัฒนากองทัพให้มีระเบียบวินัยตามโครงสร้างลำดับชั้นของการบังคับบัญชา ทั้งนี้ต้องสร้างให้มีช่องทางติดต่อโดยตรงกับผู้นำในระดับสูงของรัฐบาลเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมือง และที่สำคัญรัฐบาลพลเรือนจะเป็นผู้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้ทหารคุมทหารกันเองเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อำนาจทางทหารจะถูกรวมศูนย์ในอยู่ในมือของนักการเมืองเพียงคนเดียว
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะทำให้กองทัพมีความเป็น ldquo;ทหารอาชีพrdquo; [7] (professional soldier) โดยทำให้ทหารกลับมาสนใจกิจการของทหารมากกว่าสนใจการเมือง แต่หากเกิดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคมหรือปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ควรแก้โดยวิถีระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีทั้งระบบตรวจสอบและถ่วงดุลจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชน ภาคประชาชน และกระบวนการยุติธรรม
กล่าวโดยสรุป การสร้างเสถียรภาพความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ดังที่กล่าวข้างต้น จะทำให้กองทัพมีความเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง และส่งผลดีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคตที่จะไม่มีการใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจอีกต่อไป
2. เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง: รุ่งหรือร่วง
ภายหลังการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการประกาศวันเลือกตั้ง ประเด็นเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผมจึงใคร่ขอแสดงความเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งปลายปี 2550 นี้ โดยวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ 2 ประการ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ก. การเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งน่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ โดยอธิบายในแต่ละองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ดังนี้
1)การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหลังการเลือกตั้งน่าจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยบวกหลายด้าน
ปัจจัยแรก คือ ผลจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเป็นหลักพันถึงหมื่นล้าน ทั้งจากงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่สูงถึง 4 พันล้านบาท และการใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมือง การใช้จ่ายเหล่านี้จะกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ขยายตัวขึ้น
ปัจจัยที่สอง เป็นปัจจัยด้านจิตวิทยา คือ ความมั่นใจของภาคเอกชน การขยายตัวของการบริโภค และโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ทั้งนี้ในปี 2550 ปัจจัยที่ทำให้ภาคเอกชนเกิดความไม่มั่นใจมากที่สุดคือปัจจัยการเมือง ทั้งด้านเสถียรภาพทางการเมือง และความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลชั่วคราวว่า จะนำประเทศจะเดินไปในทิศใด และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลน่าจะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น ภาคเอกชนจะเกิดความมั่นใจที่จะขยายการบริโภคและการลงทุนต่อไปได้
ปัจจัยสุดท้าย คือ อัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาในปี 2550 หากปีหน้าไม่มีสงครามครั้งสำคัญเกิดขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะยังทรงตัวที่ระดับเดิม ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยุติการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพื่อชำระหนี้ของกองทุนในปีหน้า ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศจะลดลงเล็กน้อย ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ยังอยู่ในระดับต่ำ ธปท.จึงน่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในปี 2551 ไว้ในระดับต่ำ ซึ่งจะเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
2)การใช้จ่ายภาครัฐ
ผลพวงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณตลอด 5 ปีของการบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนยังคงยึดติดโครงการด้านสินเชื่อรายย่อยและนโยบายกระตุ้นการบริโภค ดังนั้นไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีโครงการประชานิยมเพื่อรักษาคะแนนนิยมไว้ ประกอบกับการจัดงบประมาณประจำปี 2551 ในแบบขาดดุลกว่า 1.6 แสนล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 เติบโตขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของรายจ่ายภาครัฐใน GDP ของประเทศนั้นไม่สูงนัก การใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่จึงมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจำกัดอยู่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
ถึงกระนั้น หากโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน หรือรถไฟฟ้า สามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ในปลายปี 2550 ตามที่รัฐบาลได้คาดหมายไว้ เงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังกระตุ้นให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บริเวณใกล้กับเส้นทางรถไฟฟ้า
3) การค้าระหว่างประเทศ
ตลอดครึ่งแรกของปี 2550 แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างมากเนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ แต่มูลค่าการส่งออกของไทยยังเติบโตด้วยอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์นี้อาจเป็นเพราะว่าในระยะสั้นปริมาณการนำเข้าและส่งออกไม่ได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท เมื่อค่าเงินบาทแข็งอย่างรวดเร็ว จะทำให้มูลค่าการส่งออกสูงขึ้นแต่มูลค่าการนำเข้าลดลง แต่ในระยะต่อไป ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้ปริมาณการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและส่งออกปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี J-curve
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากนัก ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยตรง แต่จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลกเป็นหลัก ดังนั้นหากค่าเงินบาทยังไม่อ่อนตัวลงในระยะต่อไป จะส่งผลทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงและการนำเข้าขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มเข้าสู่ภาวะติดลบ การค้าระหว่างประเทศจะไม่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดไว้
ข. เสถียรภาพเศรษฐกิจ
ในบทความนี้จะพิจารณาเสถียรภาพเศรษฐกิจจาก 3 ตัวแปร คือ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และดุลบัญชีเดินสะพัด
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้คือราคาน้ำมัน และเนื่องจากในปี 2551 การตึงตัวของศักยภาพโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกไม่มากนัก ดังนั้นราคาน้ำมันน่าจะยังทรงตัวอยู่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อหลังการเลือกตั้งจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
สำหรับอัตราการว่างงานหลังการเลือกตั้งน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป เนื่องจากตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมากเพียงประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้น และเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งน่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามอง คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ถึงแม้ในขณะนี้การส่งออกยังคงขยายตัวสูง และการนำเข้ามีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัว แต่ในปี 2551 มีความเป็นไปได้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดหลังการเลือกตั้งอาจมีแนวโน้มเป็นบวกลดลงจนกระทั่งเริ่มติดลบ เพราะหากยังคงมีเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างมาก ค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อไป จึงทำให้การเติบโตของปริมาณการส่งออกลดลง และทำให้การเติบโตของปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากขึ้น
หากแนวโน้มข้างต้นเกิดขึ้นจริง แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปจากแรงขับเคลื่อนจากภายนอกเป็นแรงขับเคลื่อนจากภายใน และเปลี่ยนจากปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ จะเปลี่ยนไปจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นปัญหาด้านเสถ
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
วารสารรัฐสภาสาร
เมื่อ:
2007-11-01
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 186 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 160 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง