เด็กออกกลางคัน ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติสิทธิของบุคคลในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่บัญญัติให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี ดังนั้น นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนต้องเรียนต้องเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากสถิติการเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ ทั้งในระดับประถมและมัธยมต้นในภาพรวม ปีการศึกษา 2543-2548 ของประชากรกลุ่มอายุ 6-14 ปี พบว่า ผู้เรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการออกจากระบบการศึกษาของผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับ พบว่ามีจำนวนมากเช่นเดียวกัน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า มีผู้เรียนที่ออกกลางคันประมาณ 1 แสนคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีสาเหตุมาจากความเบื่อหน่ายและเครียดกับการเรียน การทะเลาะวิวาท ติดเพื่อน ติดยาเสพติด และตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ฯลฯ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีปัญหาผู้เรียนออกกลางคัน แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาของคริสโตเฟอร์ บี สแวนสัน (Christopher B. Swanson) เรื่อง Who Graduate? Who Doesnrsquo;t? A Statistical Portrait of Public High School Graduation Rates, Class of 2001 และการศึกษาของ เจย์ พี กรีน (Jay P. Greene) และมาร์คัส วินเตอร์ส (Marcus Winters) เรื่อง Public High School Graduation and College Readiness Rates: 1991-2002 แสดงอัตราการสำเร็จการศึกษาของนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐอเมริกามีประมาณร้อยละ 68-71 จากจำนวนเด็กมัธยมปลายทั้งหมด แสดงว่า มีเด็กมัธยมปลายจำนวน 1 ใน 3 ออกกลางคัน

สาเหตุของการออกกลางคัน มีผลการศึกษาที่น่าสนใจของ จอห์น เอ็ม บริดจ์แลน์ด (John M. Bridgeland) John J. Dilulio และคาเรน เบิร์ก มอรีซัน (Karen Burke Morison) เรื่อง The Silent Epidemic: Perspective of High School Dropouts ซึ่งได้นำเสนอเมื่อปี 2549 ผู้วิจัยได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้เรียนระดับมัธยมปลาย ที่ตัดสินใจออกกลางคัน อายุระหว่าง 16-24 ปี จำนวน 467 คน จาก 25 ประเทศ พบว่า การออกกลางคันของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ได้มีสาเหตุจากผลการเรียนตกต่ำ แม้ว่าในขณะนั้นกลุ่มตัวอย่างจะมีผลการเรียนที่ไม่ดีก็ตาม โดยกว่าร้อยละ 70 ให้สัมภาษณ์ว่า ldquo;พวกเขาสามารถสำเร็จการศึกษาได้หากมีความพยายามrdquo; แต่เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 45 ให้เหตุผลว่า มาจาก ldquo;ความเบื่อหน่ายrdquo; ldquo;รู้สึกแย่กับการเรียนในโรงเรียนrdquo; อีกร้อยละ 32 ให้เหตุผลว่า ldquo;ต้องเรียนซ้ำชั้นrdquo; และยังพบอีกว่า ครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ได้สนใจกับการเรียนของผู้เรียนมากนัก

ปัญหาที่ตามมาภายหลังการออกกลางคัน
โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้จัดหามาตรการรองรับหลังจากที่ผู้เรียนออกจากระบบโรงเรียน ส่งผลให้ผู้เรียนที่ออกกลางคันจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย และมีแนวโน้มกระทำความผิด ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก นางทิชา ณ นคร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปี 2548 มีเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาผู้เรียนที่ทำผิดโดยการผลักออกจากโรงเรียน และไม่รับผิดชอบชีวิตของผู้เรียนหลังจากที่ออกจากโรงเรียน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กล่าวในการประชุมสัมมนา rdquo;แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนrdquo; เมื่อมีนาคม 2550 ไว้ว่า เมื่อโรงเรียนพบกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการออกกลางคันแล้ว ไม่ได้มีแนวทางการดำเนินการหรือส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ให้ไปในทิศทางใด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเด็กที่ออกกลางคันมีแนวโน้มที่ถูกชักนำเข้าสู่วงจรปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ฯลฯ ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียนโดยส่วนใหญ่จะรวมตัวเป็นแก๊งและร่วมก่อปัญหาอาชญากรรม

ตัวอย่างมาตรการรองรับผู้เรียนออกกลางคันในสหรัฐอเมริกา

โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมที่จะตามมา ภายหลังที่ผู้เรียนออกนอกระบบโรงเรียนโดยไม่มีมาตรการรองรับ จึงได้หันมาใช้วิธีการเชื่อมโยงกับโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) ที่เรียกว่า Affiliated Alternatives ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักสังคมสงเคราะห์ ครู พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษา รวมถึงผู้ประกอบการ มีสถานที่จัดโปรแกรมการสอนเป็นหลักแหล่ง โปรแกรมที่จัดขึ้นจะสอดคล้องปัญหาและความต้องการของผู้เรียน มี 4 โปรแกรม ดังนี้

Alternative Education Resource Option (AERO)
เป็นโปรแกรมสำหรับผู้เรียนที่ตกซ้ำชั้นที่เกรด 8 หรือผู้เรียนที่เสี่ยงต่อการสอบตกในเกรด 9 ซึ่งการศึกษาในระดับเกรด 9 ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการศึกษามัธยมปลาย หากผู้เรียนที่ไม่ผ่านเกรด 9 จะมีความเสี่ยงต่อการออกกลางคันเป็นอย่างมาก อาสาสมัครที่จัดโปรแกรมจะเป็นครูสอนในวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรปกติ ผู้เรียนที่ตกซ้ำชั้นในเกรด 8 สามารถจบหลักสูตรและเรียนต่อเกรด 9 ส่วนผู้เรียนเกรด 9 ที่เสี่ยงต่อการตกซ้ำชั้นสามารถจบชั้นมัธยมต้น และศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายได้ โดยสถานที่จัดโปรแกรมอยู่ถนนเบรอลี่ (Brearly Street) เมืองแมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน

Cluster Program
เป็นโปรแกรมที่เน้นให้ความช่วยเหลือผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เสี่ยงต่อการออกกลางคัน เพราะมีปัญหาด้านการเรียนและพฤติกรรม โปรแกรมนี้จะเพิ่มความรู้ตามหลักสูตรระดับชั้นมัธยมต้นให้ผู้เรียน ใช้เวลาไม่เกิน 1 ภาคเรียน สถานที่จัดโปรแกรมเป็นที่เดียวกับสถานที่จัดโปรแกรม AERO
School-Age Parent Program (SAPAR) โปรแกรมเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่ตั้งครรภ์ หรือแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย จัดสอนแบบเต็มวัน ตั้งแต่ 08.45-15.00 น. จันทร์-ศุกร์ เป็นโปรแกรมภายใต้รูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (home schools) ผู้เรียนจะได้เรียนตามหลักสูตรปกติ ทั้งที่เรียนในห้องเรียน และผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้ง ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเกิดของเด็ก การดูแลเด็ก การรักษาสุขภาพของแม่ การจัดการด้านการเงิน ซึ่งแต่ละคนจะมีที่ปรึกษาเป็นการส่วนตัว โดยสถานที่จัดโปรแกรมจะอยู่ที่เดียวกับสถานที่จัดโปรแกรม AERO และ Cluster Program

Work and Learn Center (WLC)
เป็นโปรแกรมสำหรับผู้เรียน ที่กำลังเรียนในปีสุดท้ายของชั้นมัธยมปลาย แต่ต้องการมีประสบการณ์ทำงานไปพร้อมเรียน ผู้เรียนที่ผลการเรียนไม่ดีและเสี่ยงเรียนไม่จบ และผู้เรียนที่ออกกลางคันไปแล้ว มี 4 ภาคเรียน ภาคเรียนแรก ผู้เรียนไปเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กในโรงเรียนอนุบาล และเป็นผู้ช่วยครูในโรงเรียนประถม 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาคเรียนที่สอง ผู้เรียนทำงานในบ้านพักคนชรา โรงพยาบาล หรือเป็นอาสาสมัครในสถานที่ต่าง ๆ 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาคเรียนที่สาม ทำงานเป็นช่างซ่อมหรือสร้างบ้าน เช่น ทำความสะอาดกำแพง ทาสี งานไม้ ฯลฯ ต่ำสุด 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบร่วมให้คำแนะนำ ภาคเรียนที่สี่ ผู้เรียนมี 2 ทางเลือก ทางเลือกแรก คือ ทำงานในสถานที่หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนสนใจทำงานในสถานที่นั้นเมื่อเรียนจบ ทางเลือกที่สอง ผู้เรียนเลือกที่จะเข้าเรียนในหลักสูตรของวิทยาลัยเทคนิคมิลวอกี (Milwaukee Area Technical College)

ผู้เรียนที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตร (Diploma) ภายใต้รูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ผู้เรียนที่เรียนจบจาก WLC จะได้รับการยอมรับจากวิทยาลัยเทคนิคมิลวอกี ผู้เรียนสามารถเทียบโอนชั่วโมงเรียนเป็นหน่วยกิตและศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สถานที่จัดโปรแกรม WLC มี 2 ที่ คือ ที่เดียวกับ AERO และ SAPAR อีกที่หนึ่งอยู่ถนนพาร์ค (Park Street) เมืองแมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน

การปรับใช้ในประเทศไทย

กรณีประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมาตรการรองรับผู้เรียนที่เสี่ยงออกกลางคัน เช่น หนีเรียนเพราะเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับการเรียน เป็นต้น โดยใช้กระบวน การพัฒนาทักษะชีวิต และกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว ในส่วนผู้เรียนที่จำเป็นต้องออกกลางคัน โรงเรียนจะรับผิดชอบดูแลเด็กจนกว่าจะเข้าไปอยู่โรงเรียนใหม่ ฯลฯ

มาตรการที่ สพฐ. สามารถเพิ่มเข้าไปได้ คือ จัดโปรแกรมการเรียนการสอนเพื่อรองรับกลุ่มเด็กที่ออกกลางคัน จัดโปรแกรมการสอนพิเศษภาคฤดูร้อน สำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน ติด ldquo;0rdquo; ldquo;รrdquo; ldquo;มส.rdquo; จนอาจทำให้ตัดสินใจออกกลางคัน โดย สพฐ. จัดเครือข่ายระหว่างโรงเรียนที่เด็กมีปัญหาผลการเรียนตกต่ำและโรงเรียนที่เก่งด้านวิชาการ เพื่อมาสอนผู้เรียนเป็นกรณีพิเศษ และคิดเป็นชั่วโมงเรียน ให้มีการเทียบโอนหน่วยกิตไปเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตร ในกรณีที่พบว่าผู้เรียนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายได้ สำหรับผู้เรียนที่ตั้งครรภ์ ที่ผ่านมา สพฐ. ได้อนุญาตผู้เรียนกลับมาเรียนต่อภายหลังคลอดบุตร แต่ความเป็นจริงนั้น ผู้เรียนมักมีความอับอายไม่อยากเรียนที่เดิม ดังนั้น สพฐ. ควรให้มีการโอนหน่วยกิตไปเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ หรือโรงเรียนจัดส่งผู้เรียนในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ซึ่งผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนที่ได้ไปเทียบโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าระดับปริญญาได้ นอกจากนี้ สพฐ. ควรร่วมมือกับนักสังคมสงเคราะห์ในแต่ละจังหวัด เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำผู้เรียนในเรื่องการประกอบอาชีพ การจัดการด้านการเงิน การดูแลบุตร ฯลฯ

ในอดีตระบบการศึกษาไทยได้ทอดทิ้งผู้เรียนที่ออกกลางคัน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อปัญหาทางสังคมต่าง ๆ มากมาย อันทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขและจัดการกับปัญหาที่ตามมานี้ แต่เป็นที่น่ายินดีที่ สพฐ. หันมาให้ความสำคัญกับผู้เรียนกลุ่มนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ สพฐ. จะดำเนินการต่อไปนั้น ควรครอบคลุมทุกปัญหาที่อาจส่งผลของผู้เรียนออกกลางคัน โดยแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาชีวิตทุกด้านและเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2007-07-12