แฝดเหมือน... วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทยและอิสราเอล
อิสราเอลเป็นประเทศที่มีปัญหาการศึกษาคล้ายกับไทยมากปัจจุบันความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาของคนอิสราเอลลดต่ำลง จนเกิดความวิตกกันว่า อนาคตอิสราเอลจะไม่ได้เป็นประเทศที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกต่อไป สัญญาณที่บ่งบอกว่าการศึกษาอิสราเอลมีปัญหา และเมื่อเปรียบเทียบกับไทยพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายประการ ดังนี้
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ในศตวรรษที่ 1960s นักเรียนอิสราเอลมีศักยภาพด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ศักยภาพด้านนี้ได้ลดลงเรื่อย ๆ ในปี 2002 เลื่อนอันดับลงไปอยู่ที่ 33 จากทั้งหมด 41 ประเทศ ตามหลังไทยและโรมาเนีย และมีนักเรียนอายุ 18 ปี เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานการอ่านภาษาฮีบรู (standard Hebrew reading comprehension test) จากที่เคยผ่านถึงร้อยละ 60 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับไทย ผลการทดสอบโอเน็ต ปี 2546-2547 และ 2549 และเอเน็ต ปีการศึกษา 2548-2549 พบว่านักเรียนมัธยม 3 และมัธยม 6 มีคะแนนเฉลี่ยวิชาหลัก 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภาษาไทย ต่ำกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นวิชาภาษาไทย
ครูมีภาระงานมากแต่ค่าตอบแทนต่ำ จากการประเมิน OECD กล่าวว่า ในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม เงินเดือนครูอิสราเอลต่ำที่สุด โดยเริ่มต้นอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของครู ไม่เพียงเท่านั้น ครูอิสราเอลยังมีภาระความรับผิดชอบมาก ครู 1 คน ต้องรับผิดชอบนักเรียนถึง 40 คน และนอกจากงานสอนยังต้องรับผิดชอบภาระอื่นของโรงเรียนอีก ปัญหาครูอิสราเอลไม่ต่างจากครูไทย กล่าวคือ มีผลตอบแทนและสวัสดิการต่ำ แต่มีชั่วโมงการทำงานที่สูง ข้อมูลจาก Education at a Glance 2005 ของ OECD พบว่า ครูไทยมีภาระงานหนักกว่าครูประเทศกลุ่ม OECD โดยต้องรับผิดชอบนักเรียน 40 คน ต่อ 1 ห้องเรียน มีชั่วโมงการทำงาน 900-1,200 ชั่วโมงต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของครูในประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 600-700 ชั่วโมงต่อปี รายงานการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สภาวะการขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย (2547) โดย รศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง รศ.ดร.จรูญศรี มาดิลกโกวิท และคณะฯ พบว่า ค่าตอบแทนครูต่ำมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น อีกทั้ง อัตราเงินเดือนระหว่างครูเก่งครูดีกับครูคุณภาพไม่แตกต่างกัน ทำให้ครูเก่งครูดีขาดกำลังใจและมีแนวโน้มออกจากอาชีพครูมากขึ้น
การขาดแคลนครูในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ อิสราเอลขาดครูที่เชี่ยวชาญวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพราะปัจจุบันอิสราเอลได้ลดมาตรฐานผู้ที่จะเข้ามาเป็นครูในสาขาวิชาดังกล่าวลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยต้องจบจากมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย ผลจากนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนของภาครัฐ หรือการเออลี่รีไทร์ ทำให้ขาดแคลนครูอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2543 โดยเฉพาะครูวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตครูยังไม่สามารถคัดเลือกคนดีคนเก่งมาเป็นครู
ความไม่มั่นใจในคุณภาพการศึกษา ผลจากการตัดงบประมาณเพื่อการศึกษาของรัฐบาลอิสราเอล จากร้อยละ 9.3 ของ GDP ในปี 2002 เป็นร้อยละ 8.3 ของ GDP เมื่อปลายปี 2006 ทำให้โรงเรียนลดชั่วโมงเรียนลงไป เมื่อปี 1997 นักเรียนใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนจำนวน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่วันนี้ใช้เหลือเพียง 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะบางวิชาไม่มีการเรียนการสอน หรือไม่สามารถสอนครบหลักสูตร โดยวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ถูกตัดทอนลงไป ทำให้พ่อแม่ปกครองในอิสราเอลไม่มั่นใจในคุณภาพการศึกษา จึงหาทางออกโดยจัดครูพิเศษมาสอน ในประเทศไทย ไม่มีการลดชั่วโมงเรียนเหมือนอิสราเอล แม้จะขาดครูและมีปัญหาคุณภาพ แต่สิ่งที่สะท้อนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มั่นใจในคุณภาพการศึกษาคือ การเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมหรือหลังเลิกเรียน
การแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาของอิสราเอล อิสราเอลแก้ไขปัญหาการศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในปี 2008 โดยอิสราเอลจะเพิ่มงบประมาณอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการศึกษา โดยงบฯ ที่เพิ่มเข้ามานี้นำมาใช้เป็นเงินเดือนครูและการปฏิรูปโรงเรียน โดยรัฐบาลมีงบผูกมัดว่าต้องเพิ่มงบฯ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปี
หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทย แม้มีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 แต่พบว่า การศึกษาไทยยังไม่พัฒนาไปเท่าที่ควร แสดงให้เห็นว่า ไทยต้องทบทวนการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่การหาจุดที่เป็นคานงัดของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังตัวอย่างของอิสราเอลที่เห็นว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้อง ldquo;พัฒนาครูrdquo; และ ldquo;ปฏิรูปสถานศึกษาrdquo;
สำหรับคานงัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ผมเสนออย่างน้อย 3 จุด ได้แก่ 1) รมต. ศธ. ต้องนำธงชัดเจนด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และมีกลไกให้เกิดดำเนินการต่อเนื่องแม้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล 2) จัดสรรทรัพยากรโดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่ผู้เรียนตามคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและ 3) พัฒนาคุณภาพครู โดยพัฒนาครูให้มีคุณภาพในการสอนและมีขวัญกำลังใจในการประกอบวิชาชีพ
การปฏิรูปการศึกษาไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตั้งลำ และหาคานงัดสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไปทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ควรดันทุรังดำเนินการตามกรอบเดิมซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-01-21
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,476 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,311 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,223 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,051 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,461 ครั้ง