5 กลไก... ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD ได้จัดทำโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติหรือ PISA ปี 2549 โดยสำรวจความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแนวโน้มการอ่านของนักเรียนอายุ 15 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD 57 ประเทศ จากการสำรวจพบว่า นักเรียนไทยถึงร้อยละ 47 รู้วิทยาศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน และร้อยละ 1 เท่านั้นที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในระดับสูง องค์การยูเนสโก แนะนำว่าไทยควรปรับปรุงคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา โดยระดับปฐมวัยควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ระดับอุดมศึกษาควรปรับปรุงการวัดมาตรฐานการเรียนการสอน การทำวิจัย และจำนวนหนังสือในห้องสมุดที่ยังไม่เพียงพอ
ผลสำรวจในประเทศไทย โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปี 2548 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ อาทิ ผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 35
นักวิชาการได้วิเคราะห์สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตคุณภาพการศึกษา มีหลายสาเหตุ เช่น งบประมาณที่มีความจำกัด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีขนาดใหญ่ขยับยาก ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคีอื่น ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษา หลักสูตรการศึกษาไม่เน้นการคิดเป็นทำเป็น ปัญหาครูไม่เพียงพอหรือขาดคุณภาพ ฯลฯ การแก้ไขและพัฒนาการจัดการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ หลักสำคัญ ต้องเริ่มจากปฏิรูปฝ่ายที่เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการศึกษาของประเทศ อาทิ
สรรหารัฐมนตรี ศธ. ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เนื่องจากงานด้านการศึกษาต้องใช้เวลานานในการวางรากฐานและพัฒนาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาพบว่าการจัดการศึกษาจะมีการปรับเปลี่ยนวาระหรือนโยบายไปตามรัฐมนตรี ศธ. ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งไทยมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี ศธ. บ่อยมาก ทำให้การดำเนินนโยบายการศึกษาขาดความต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องสรรหารัฐมนตรี ศธ. ที่มีวิสัยทัศน์ไกลไปในอนาคต เพื่อให้มากำหนดทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตและวางแนวทางผลักดันให้ไปสู่วิสัยทัศน์นั้น สามารถผลักดันผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่วิสัยทัศน์นั้น อีกทั้ง จำเป็นต้องสรรหารัฐมนตรี ศธ. ที่สามารถบริหารการศึกษาเชิงกลยุทธ์ สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง สามารถสร้างภาคีเครือข่าย มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
กำหนดคณะกรรมการด้านศึกษาที่มีพลังในการกำหนดยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติ คณะกรรมการด้านการศึกษาทุกคณะ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสภาการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการอาชีวศึกษา ต่างมีบทบาทนำเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนพิจารณาเสนอนโยบาย แผน มาตรฐานการศึกษา และการประเมินผลการจัดการศึกษา และให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรี ศธ. หรือคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องพัฒนารูปแบบการทำงานและกลไกต่าง ๆ ของคณะกรรมการการศึกษาเหล่านี้ ให้สามารถทำหน้าที่ตัดสินใจเสนอนโยบายที่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการศึกษาชาติเชิงรุก เพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสามารถทำงานร่วมอย่างบูรณาการ
กำหนดกลยุทธ์บริหารการศึกษาไทย ควรกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารงานด้านการศึกษาไว้เป็นตัวแบบ คือ กำหนดแนวทางพัฒนาการศึกษาที่ดีที่สุด ภายใต้สภาวะต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบ และภายใต้ความจำกัดทางทรัพยากร โดยกำหนดเป็นขั้นตอนแต่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์หรือเมื่อมีอุปสรรค มีการจัดเตรียมกลไกบริหารจัดการที่นำสู่ภาคปฏิบัติ แม้เปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรี ศธ. ก็ยังมีระบบและกลไกขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้
ผ่านและการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาสำคัญ ปัจจุบันมีกฎหมายและกฎกระทรวงด้านการศึกษาจำนวนกว่าครึ่งค้างอยู่ซึ่งเป็นอุปสรรคยิ่งต่อการจัดการศึกษาตามกรอบใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ดังนั้น ต้องเร่งผลักดันให้ปรับปรุงกฎหมายที่มีปัญหา อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการเรียนฟรี 12 ปี หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา ฯลฯ การผลักดันกฎหมายใหม่รองรับกระแสโลกาภิวัตน์ อาทิ กฎหมายกฎระเบียบเกี่ยวกับการเปิดเสรีการศึกษา ฯลฯ การจัดทำวิจัยผลกระทบเชิงบวกและลบของการใช้กฎหมายต่าง ๆ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมาย รวมถึง ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎหมายแก่ผู้ปฏิบัติงาน
สนับสนุนภาคีอื่นเข้าร่วมจัดการศึกษา การจัดการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญที่มิใช่เป็นภาระของ ศธ. เท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเข้าร่วม อาทิ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการศึกษา หรือชุมชน ฯลฯ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดแนวทางหรือกลไกที่เปิดให้ภาคีอื่นเข้ามีส่วนร่วม โดยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการสร้างภาคีความร่วมมือระดับเข้มข้นเกิดผลจริง มิใช่เป็นเพียงเครือข่ายในนาม
การจัดการศึกษาจะมีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มจากผู้ที่มีส่วนกำหนดทิศทางและนโยบายให้ทิศทางที่ชัดเจน มองไกลไปในอนาคต รวมทั้งมีการกำหนดนโยบาย กลไกการดำเนินการ และกลยุทธ์ในเชิงรุกได้ จึงจะผลักดันและขับเคลื่อน ให้เกิดการดำเนินการในลำดับต่อไปถึงระดับปฏิบัติการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-01-14
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,542 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,367 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,393 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,133 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,513 ครั้ง