เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่
* ที่มาของภาพ - http://www.sudipan.net/phpBB2/files/__________166.jpg
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เกินกึ่งหนึ่งหรือ 241 เสียงขึ้นไปจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 480 คนดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องอาศัยการเข้าร่วมของพรรคการเมืองหลายพรรค หรือที่เรียกกันว่า ldquo;รัฐบาลผสมrdquo;
น่าสนใจว่า พรรคพลังประชาชนที่ได้รับเลือกจากประชาชนมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ (ส.ส. 233 คน) ได้ประกาศเชิญชวนพรรคต่าง ๆ เข้าร่วมรัฐบาล แต่ยังไม่มีพรรคใดตอบรับอย่างเป็นทางการ จึงอดที่จะตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า นักการเมืองคิดและวางหลักเกณฑ์อะไรในการเลือกข้างเข้าร่วมรัฐบาล ตั้งแต่เสถียรภาพของรัฐบาล, นโยบายส่วนรวมในการบริหารประเทศ, ความปรองดองและสมานฉันท์, ตำแหน่งและจำนวนรัฐมนตรีที่จะได้รับ หรือแม้กระทั่งการต่อรองเงื่อนไขของ ldquo;ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีrdquo; ที่อาจไม่ใช่เป็นของหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่ง
หากพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อรองใด ๆ แต่เข้ามาเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มุ่งสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ตัวเลขรัฐบาลผสมจำนวน 294 เสียงเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอสมควร แต่ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัวจากรัฐบาล รัฐบาลยังมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะหาทางออกโดยเชื้อเชิญพรรคเล็ก ๆ จำนวนราว 20 เสียงมาเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อมุ่งสร้างให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ในทางตรงข้าม หากพรรคพลังประชาชนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แน่นอนว่า โอกาสจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทันที(165) ที่จะเชื้อเชิญพรรคชาติไทย(37) พรรคเพื่อแผ่นดิน(24) พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา(9) พรรคมัชฌิมาธิปไตย(7) และพรรคประชาราช(5)เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลผสมจำนวน 247 เสียง (กรณีที่ยังไม่นับใบเหลืองใบแดง) หรือเกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 7 เสียงเท่านั้น
ดังนั้น จำนวนเสียงที่เกิน 240 มาเพียงเล็กน้อย ย่อมถูกตั้งคำถามว่า รัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศใหม่หรือไม่
ตอบได้ว่า รัฐบาลผสม(เกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย) จะไม่ยั่งยืนในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะหากรัฐมนตรีพรรคอื่นเกิดความไม่พอใจต่อแกนนำรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง และตัดสินใจไม่ให้ความร่วมมืออย่างใดอย่างหนึ่งต่อรัฐบาล เช่น การไม่ดำเนินตามนโยบายในการบริหารประเทศ การไม่เข้าร่วมประชุมพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม การไม่โหวตพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการโหวตสวนมติของวิปรัฐบาลหรือมติพรรคในเรื่องต่าง ๆ (ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้เอกสิทธิ์แก่ ส.ส. ที่สามารถตัดสินใจได้เองโดยสมาชิกไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค)
ที่กล่าวมานั้น ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลพอประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมารยาททางการเมืองแล้วรัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป ทางเลือกของผู้นำประเทศคือประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัวออกไป จะทำให้รัฐบาลที่เสียงเกินกึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อยเพียง 7 เสียง จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยซึ่งจะยากลำบากต่อการบริหารประเทศและการพิจารณาออกกฎหมาย
โดยสรุป ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งชนะขาดเกินครึ่ง คำตอบจึงเป็นรัฐบาลผสม แต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้เงื่อนไขที่สลับซับซ้อน ต่อรองผลประโยชน์ แบ่งข้างเพื่อช่วงชิงมากกว่าคำนึงถึงมารยาททางการเมือง ยิ่งจะทำให้สังคมการเมืองไทยอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงและเสถียรภาพของรัฐบาลที่พร้อมจะสั่นคลอนในอนาคต
แสดงความคิดเห็น
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-12-26