ฮาร์วาร์ดแบบอย่างมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมความหลากหลาย

การส่งเสริมความคิดที่หลากหลาย นับเป็นจุดแข็งอีกประการหนึ่ง ที่ฮาร์วาร์ดได้พยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นในรูปแบบ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับการขยายมุมมองในมิติที่แตกต่าง

สิ่งที่สะท้อนการสนับสนุนให้นักศึกษา ได้เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง ได้แก่

การคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงที่สอดคล้องกับการพัฒนามหาวิทยาลัย
กรอบการคัดเลือกตัวอธิการบดี ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย เป็นการเปิดกว้างให้ผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งในเวลานั้นอย่างแท้จริง ไม่ได้จำกัดอยู่กับเกณฑ์การคัดเลือกที่ตายตัว จนเกิดการพัฒนามหาวิทยาลัยในมิติต่าง ๆ ทำให้ฮาร์วาร์ดสามารถก้าวเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น

อธิการบดี ชาร์ล อีเลียต ที่เป็นผู้มองการณ์ไกล เป็นผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย อธิการบดีลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ที่เป็นนักปฏิรูป กล้าเปลี่ยนแปลงหลักสูตรพื้นฐานให้นักศึกษาปริญญาตรีได้มีโอกาสใช้ชีวิตในต่างประเทศช่วงหนึ่งก่อนจบการศึกษา อธิการบดีเจมส์ ไบรอัน โคเน็ตท์ ที่เห็นความสำคัญของความหลากหลายของนักศึกษาจึงก่อตั้งโครงการทุนศึกษานานาชาติที่สามารถดึงดูดนักเรียนที่มีคุณภาพทั่วอเมริกา อธิการบดีดิเรค บ็อค ที่เป็นคนที่ให้โอกาสนักเรียนที่มีความสามารถทั่วโลกจากหลายเชื้อชาติและฐานะทางเศรษฐกิจเข้าศึกษาต่อผ่านนโยบาย need-blind admissions ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน

การเปิดกว้างให้กับหนังสือ วิทยาการที่ดีจากทั่วโลก
เห็นได้จากห้องสมุดที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้จากทั่วโลก มีหนังสือมากกว่า 15 ล้านเล่ม ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยเชื่อมโยงข้อมูล งานวิจัยต่าง ๆ เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยจากทุกมุมโลก รวมถึงร้านหนังสือที่ตั้งอยู่หน้าฮาร์วาร์ดยาร์ด ที่เป็นร้านขายหนังสือเก่าแก่เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือดีจากทั่วโลก ที่ให้เลือกทั้งหนังสือใหม่แกะกล่อง หรือหนังสือมือสอง

การเปิดกว้างให้นักศึกษาสามารถสัมผัสกับการนำเสนอแนวคิดที่แตกต่าง จากสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีอยู่นี้เอง ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงสังเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ และการคิดเชิงบูรณาการ ผสมผสานความรู้เหล่านั้น เพื่อก่อเกิดต่อยอดทางองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้

การเปิดกว้างในการรับนักศึกษาจากทั่วโลก
ดังเห็นได้จากสถิติการรับนักศึกษาที่มาจากทั่วโลกราว 131 ประเทศมากกว่า 3,821 คน อีกทั้งๆ 10 คณะ และสาขาวิชาในระดับปริญญาตรีทั้ง 44 สาขา เปิดหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อให้นักศึกษาทั้งในและต่างชาติได้เลือกเรียน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่สามารถดึงดูดผู้เรียนหัวกะทิจากทั่วโลก

นักศึกษาหัวกะทิจากทั่วโลกได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ในการใช้ชีวิตร่วมกันในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งการอยู่ร่วมกันของคนต่างความคิด ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรมนี้เอง ทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ในมุมมองที่หลากหลาย เป็นการเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาให้กว้างมากขึ้น

การเปิดโอกาสให้นักศึกษาบางส่วนได้ไปเรียนรู้นอกประเทศ หลักสูตรพื้นฐานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ที่เปิดกว้างให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในต่างประเทศ ก่อนจบการศึกษา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับส่วนอื่น ๆ ของโลก และมุมมองที่ประเทศอื่นมองประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาที่จะต้องใช้ชีวิตและทำงานในทั่วทุกมุมโลก ในฐานะพลเมืองของโลก

การเรียนการสอนที่บูรณาการองค์ความรู้ การเปิดตัวldquo;วิทยาลัยวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์rdquo; การให้นักศึกษาลงทะเบียนข้ามคณะ-มหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ที่ไม่จำกัดขอบเขตทางวิชาการในความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการสืบค้นความรู้ ในสาขาวิชาที่เชื่อว่าขาดไม่ได้ สะท้อนการหลอมรวมองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เพื่อการขยายความรู้ ความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลก และนำความรู้ไปพัฒนาให้สังคมดีขึ้น

การรับคณาจารย์ที่ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ หรือสถาบันการศึกษาที่จบมา แต่คำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม คือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาสอน ทำให้นักศึกษาได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางความคิดของอาจารย์ที่มาจากต่างที่ ต่างมุมมอง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการถกเถียงทางความคิด เปิดมุมมองใหม่ ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนมีชีวิติชีวา เพราะครูและลูกศิษย์ได้สะท้อนมุมมองซึ่งกันและกัน
แบบอย่างการส่งเสริมความหลากหลายของฮาร์วาร์ดนั้น นับเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยของไทยไม่อาจมองข้าม หรือหยิบยกมาเพียงบางประเด็น เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก

สิ่งสำคัญที่ผมขอสะท้อนคือ ระบบการศึกษาของเราจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนยอมรับในความหลากหลาย และความคิดที่แตกต่าง
ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลในชาติให้พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นพลเมืองโลกมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็นการสร้างสังคมใหม่ในอนาคต ที่คนในสังคมสามารถนำเอาความแตกต่างมาใช้ในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้ประเทศไทยจะได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่า การส่งเสริมให้มีความหลากหลาย และการเปิดใจรับฟังความแตกต่างในแวดวงวิชาการ การเรียนการสอนนั้น ย่อมส่งผลดีต่อการต่อยอดทางองค์ความรู้ เพราะเป็นการหล่อหลอมทางความคิดในมิติที่หลากหลาย มีโอกาสเปิดโลกกว้างทางความคิด ทัศนคติ ส่งผลต่อการเรียนรู้ในมิติที่ลึก กว้างและไกลมากขึ้น

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-12-07