ความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ได้ด้วยการฟังเสียงประชาชน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ จัดทำโครงการความร่วมมือพัฒนาประเทศด้านการวิเคราะห์ ความยากจนและติดตามประเมินผล เพื่อเป็นโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลและความร่วมมือทางด้านวิชาการ ฯลฯ

ธนาคารโลกได้ให้ความเห็นว่า แม้สัดส่วนคนยากจนในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่คิดว่าคนยากจนจะหมดไปในปี 2552 ตามเป้าหมายของรัฐบาล ในขณะที่ความไม่เทาเทียมกันของรายได้ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

ผมเห็นว่า สัดส่วนคนยากจนที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับความสนใจและเอาใส่ใจ คือ จะทำอย่างไร เพื่อลดช่องว่างของการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ผ่านนโยบาย อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, SML และนโยบายการให้สินเชื่ออื่น ๆ ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้วยการแจกเงิน กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีเงินใช้จ่าย แต่ผลกลับทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น วิธีการนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถนำเงินมาแจกประชาชนได้ตลอด

นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้นโยบายคิดเอาเองว่าประชาชนควรได้อะไร และใช้นโยบายเหมือน ๆ กันกับประชาชนทุกกลุ่ม เช่นการแจกเงินให้กับทุกหมู่บ้านเท่ากัน หรือแบ่งตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม เพราะแต่ละหมู่บ้านต้องการเงินไม่เท่ากัน เนื่องจากความเจริญไม่เท่ากัน และความต้องการของหมู่บ้านไม่สามารถวัดได้ผ่านขนาดของหมู่บ้าน รวมถึงแต่ละหมู่บ้านต้องการทรัพยากรไม่เหมือนกัน และทรัพยากรบางอย่างไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน อาทิ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ,ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ

ฉะนั้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ รัฐบาลควรฟังว่าประชาชนต้องการอะไร เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปรับปรุงนโยบายให้เกิดประโยชน์ และตรงตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งใช้นโยบายที่แตกต่างแต่เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม

โดยช่องทางหนึ่งในการรับฟังความเห็นของประชาชนที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเหมือนสภาของประชาชน ที่มีความใกล้ชิดกับปัญหา และมีหน้าที่โดยตรงในการให้คำปรึกษา และเสนอแนะความคิดเห็นต่อรัฐบาล

และเป็นที่น่ายินดีที่สภาที่ปรึกษาฯในชุดที่ 2 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานใหม่ที่ชื่อว่า คณะทำงานกระจายรายได้ที่มีเพื่อนของผมที่ให้ความเคารพนับถืออย่างมากชื่อ ดร.นลินี ทวีสินเป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานภายใต้การนำของ ดร.นลินี ทวีสิน ท่านนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความแตกต่างทางรายได้ การกระจายทรัพยากร และการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน คือ เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย สภาที่ปรึกษาฯจึงน่าจะเป็นนี้จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนรัฐบาล ในการแก้ปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาความยากจน หากรัฐบาลจะหัดฟังเสียงประชาชนเสียบ้าง

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-12-27