พรรคการเมืองกับการมีส่วนร่วม
ปัญหาประการหนึ่งของพรรคการเมืองไทยที่เรารับรู้กันทั่วไป นั่นคือ พรรคการเมืองมักจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมและบัญชาการของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกลุ่มทุนของพรรค โดยทั้งหมดมีอำนาจในการสั่งการและตัดสินใจ มักไม่ใคร่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรค ประธานสาขาพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค หรือ ส.ส.ของพรรค มีโอกาสร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจในการเรื่องสำคัญ ๆ ของพรรค
แม้บางครั้งอาจมีการอ้างว่า การตัดสินใจในเรื่องสำคัญของพรรคจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างมีส่วนร่วม อย่างน้อยต้องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่หลายครั้ง ในความเป็นจริง แล้วเป็นเพียงฉากบังหน้าเพื่อให้ภาพการบริหารพรรคดูสวยงาม การตัดสินใจเด็ดขาดยังคงอยู่ที่ผู้มีอำนาจภายในพรรคเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
มองแบบนี้แล้ว พรรคการเมืองคงไม่ต่างไปจากการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งหากผู้นำพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้ โอกาสที่จะบริหารประเทศด้วยจิตสำนึกประชาธิปไตย คงเป็นเรื่องยาก
พรรคการเมืองจำเป็นต้องนำหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นของ ldquo;การมีส่วนร่วมrdquo; เข้ามาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการในพรรคการเมือง
นิยามของการมีส่วนร่วม โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมไว้ว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ ฯลฯ
ดังนั้น หากจะนำเรื่องของ ldquo;การมีส่วนร่วมrdquo; มาประยุกต์ใช้ในพรรคการเมืองก็คงจะมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
หนึ่ง...สมาชิกในพรรคมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นได้ ที่จริงแล้ว กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคก็คงจะมีอยู่อย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติมักเป็นเพียงการทำให้ถูกต้องตามตัวอักษรของการมีส่วนร่วม แต่ไม่มีจริงโดยเนื้อแท้ในภาคปฏิบัติ ในความเป็นจริง สมาชิกของพรรคควรมีโอกาสได้รับรู้รับทราบข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง การให้ข้อมูลอย่างถูกต้องและเป็นธรรมและให้สมาชิกมีส่วนร่วมจะเอื้อให้สังคมในพรรคการเมือง เป็นสังคมที่โปร่งใส เชื่อถือได้ เพราะการตัดสินใจต่าง ๆ ภายในพรรคไม่ได้เป็นการกระทำแบบลับ ๆ หรือรู้เห็นเพียงไม่กี่คนของผู้มีอำนาจในพรรค
ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคควรสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นหรือโต้แย้ง หากเห็นว่ากฎระเบียบ กติกา ข้อบังคับต่าง ๆ หรือการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารของพรรคนั้นขาดความรอบคอบและถูกต้อง โดยทางพรรคควรเปิดช่องทางในการรับฟัง ถามไถ่ และทบทวน ก่อนตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สอง เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมชี้แจงความจริงต่อคณะกรรมการฯ หากมีการกล่าวร้าย ป้ายสี ของสมาชิกภายในพรรคด้วยกันเอง หัวหน้าพรรคไม่ควรด่วนตัดสินหรือตั้งธงไว้แล้วโดยไม่ได้ฟังความจริงจากอีกฝ่ายหนึ่ง ประเด็นนี้ พรรคควรจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่ง ทั้งนี้กระบวนการตัดสินของคณะกรรมการให้ยึดหลักการพิจารณาที่ยุติธรรม โดยเชิญฝ่ายที่เป็นคู่กรณีเข้ามามีส่วนร่วมในการชี้แจงความจริงและแสดงหลักฐานต่าง ๆ และสามารถซักถามฝ่ายตรงข้ามในลักษณะโจทย์หรือจำเลยได้ มิใช่ตั้งคณะกรรมการพอเป็นภาพลักษณ์เท่านั้น
การเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมชี้แจงความจริง เท่ากับเป็นการป้องกันการปองร้ายจากเพื่อนสมาชิกภายในพรรคและนำไปสู่กระบวนการพิจารณาที่มีความยุติธรรม
สาม...สมาชิกและประชาชนมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปัญหาประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในพรรคการเมือง คือมีผู้ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่ต้องการลงสมัครด้วยกันเอง หรือเกิดความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจในพรรคที่อาจจะใช้อำนาจในการผลักดันคนใกล้ชิดของตนลงสมัคร
เสนอว่า ทางออกในการคัดเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ควรเปิดให้สมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งดังกล่าวได้มีส่วนร่วมที่จะพิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสม อาจทำโดยการโหวตให้บุคคล (ที่เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งแสดงวิสัยทัศน์) ที่มีคะแนนสูงสุดจากสมาชิกพรรคได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือในอีกทางหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณา หากต้องการวัดผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อาจจะสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่า ต้องการผู้สมัครท่านใดเป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติหรือเข้ามาพัฒนาพื้นที่ของตน
วิธีการมีส่วนร่วมดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความชอบธรรมและได้รับการยอมรับจากประชาชนจากสมาชิกพรรค อันจะเป็นการลดขดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างผู้สมัครที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง
กล่าวโดยสรุป หากพรรคการเมืองเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรค ประธานสาขาพรรค คณะกรรมการบริหารฯ หรือแม้กระทั่งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ของพรรค ย่อมเอื้อต่อการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มากกว่าที่จะปล่อยให้การตัดสินใจต่าง ๆ ตกอยู่กับบุคคลไม่กี่คนในพรรคเท่านั้นซึ่งขาดการตรวจสอบและถ่วงดุล
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-11-21
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 220 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,981 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,605 ครั้ง