บทเรียนจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในมหานครเซี่ยงไฮ้
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติหรือ PISA (Program for International Student Assessment) ที่เน้นการประเมินศักยภาพของนักเรียนอายุ 15 ปี จาก 65 ประเทศทั่วโลก ในการใช้ความรู้และทักษะที่จำเป็นในชีวิต ผลปรากฏว่า ในปี ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา มหานครเซี่ยงไฮ้ของจีนสามารถทำคะแนนสอบเป็นอันดับ 1 ในทุกรายวิชา อันได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ 613 คะแนน จากคะแนนเฉลี่ย 494 คะแนน วิชาการอ่าน 570 คะแนน จากคะแนนเฉลี่ย 496 คะแนน และวิชาวิทยาศาสตร์ 580 คะแนน จากคะแนนเฉลี่ย 501 คะแนน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลกว่า เซี่ยงไฮ้สามารถพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพได้อย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลทำให้เซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จทางการศึกษาในปัจจุบัน
เซี่ยงไฮ้ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ?
1. การพัฒนาคุณภาพการสอนของอาจารย์ผ่านระบบการให้คำปรึกษา :
ระบบการให้คำปรึกษาผ่านการประเมินคุณภาพการสอนในเซี่ยงไฮ้เน้นให้อาจารย์ผู้สอนรู้ถึงข้อบกพร่องของตน และสามารถรู้ได้ถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้ ระบบการศึกษาในเซี่ยงไฮ้ยังเน้นให้อาจารย์มีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถเรียนรู้และปรับปรุงข้อบกพร่องของตน โดยเน้นการสอนให้น้อยลงแต่เน้นจำนวนผู้เรียนให้มากขึ้น ทั้งนี้สำหรับอาจารย์ใหม่ในโรงเรียนจะได้รับการดูแลและฝึกอบรมอย่างดีจากคณาจารย์อาวุโส
2. การรวมกลุ่มของคณาจารย์ในการทำวิจัยและรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา :
การรวมกลุ่มสำหรับการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนสอนในชั้นเรียน ผลงานวิจัยยังถือเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของอาจารย์ในโรงเรียน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากระบบการศึกษาในเซี่ยงไฮ้จะพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดอันเนื่องมาจากงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นของคณาจารย์ ส่วนการประชุมเพื่อพัฒนาหลักสูตรจะเป็นการรวมกลุ่มของคณาจารย์ที่สอนวิชาเดียวกันและชั้นปีเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนหลักสูตรร่วมกัน ประเมินผลความคืบหน้าของนักเรียน และเตรียมเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนที่เรียนตามไม่ทันเพื่อนในชั้นเรียน จะได้รับการรายงานในที่ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
3. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เซี่ยงไฮ้ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก การลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากโรงเรียนมีขนาดและคุณภาพที่ต่างกัน รัฐบาลจึงตัดสินใจกำหนดนโยบายยุบโรงเรียนเล็ก เพื่อรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่กับโรงเรียนขนาดเล็ก
ประการที่สอง การช่วยเหลือด้านการเงินแก่โรงเรียนในชนบท เนื่องจาก ในอดีต รัฐบาลให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาแก่โรงเรียนในชนบทน้อยกว่าโรงเรียนในเมือง ปัจจุบันรัฐบาลจึงเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่โรงเรียนในชนบทมากขึ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาอาคารเรียน ห้องสมุด และการเพิ่มเงินเดือนแก่ครูในชนบท เป็นต้น
ประการที่สาม การจับคู่ระหว่างโรงเรียนที่มีคุณภาพกับโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพทางการศึกษา เป็นแนวทางที่มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้การศึกษาในเซี่ยงไฮ้มีคุณภาพเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพจะสามารถเรียนรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตรและคุณภาพทางการศึกษา โดยเรียนรู้ผ่านผู้เชี่ยวชาญและเรียนรู้จากความสำเร็จของโรงเรียนที่มีคุณภาพทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูที่มีคุณภาพในโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพได้อีกด้วย
ปัจจัยสนับสนุนทางวัฒนธรรมและสังคม
ประเทศจีนเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นเวลาช้านาน โดยในอดีต ตั้งแต่ ค.ศ. 603 ประเทศจีนได้คิดค้นระบบการสอบแข่งขันเข้ารับราชการขึ้นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและมีการแข่งขันสูง ผู้ที่สามารถเข้ารับราชการในสมัยนั้นได้ต้องเป็นคนที่มีความรู้ในระดับหัวกะทิของประเทศเท่านั้น อีกทั้งการสอบแข่งขันในแต่ครั้งไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสถานะทางสังคม ภูมิหลังทางครอบครัว หรือความยากดีมีจน การสอบแข่งขันจึงเปรียบเสมือนโอกาสสำหรับประชาชนทั่วไปในการยกสถานะทางสังคม และได้รับการยอมรับนับถือจากคนในสังคม
ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้ชาวจีนเห็นคุณค่า และให้ความสำคัญกับการศึกษาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการสอบเข้ารับราชการแบบในอดีตจะถูกยกเลิกไปแล้วใน ค.ศ. 1905 แต่ค่านิยมและความคิดที่บูชาความรู้ของคนจีนยังคงดำรงอยู่ ซึ่งส่งผลทำให้ชาวจีนในปัจจุบันเทิดทูนอาชีพครูให้เป็นอาชีพที่น่านับถือที่สุดในสังคม และยังคงให้ความสำคัญกับคะแนนสอบเหมือนในอดีต
บทเรียนสำหรับประเทศไทย
ระบบการศึกษาในประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาเช่นเดียวกันกับนครเซี่ยงไฮ้และอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาคุณภาพครูและคุณภาพของโรงเรียน อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาของไทยแตกต่างจากเซี่ยงไฮ้ตรงที่ การพัฒนาคุณภาพครูของไทยเน้นให้ครูแต่ละคนทำผลงานเป็นเอกสารวิจัย แต่เซี่ยงไฮ้เน้นการพัฒนาที่คุณภาพการสอนของครู และเน้นการทำงานเป็นทีมในด้านการพัฒนาครู การทำวิจัย และการพัฒนาหลักสูตร
ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษานั้น เป็นปัญหาที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลงทำให้เด็กเกิดน้อยลง ส่งผลทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีจำนวนนักเรียนน้อยลง โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจะเผชิญปัญหาความไม่เพียงพอของทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพการเรียนการสอนยิ่งแย่ลงเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ถึงแม้ว่า ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำของเซี่ยงไฮ้เป็นมาตรการที่ดี แต่กระนั้นการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำของจีนอาจเป็นไปได้ง่ายกว่าประเทศไทย เนื่องจากระบอบการปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจสั่งการได้มากกว่ารัฐบาลไทย ดังตัวอย่างข้อเสนอการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาลไทยที่เผชิญกับเสียงคัดค้านอย่างรุนแรง
ทางการไทยจึงควรเน้นการชี้แจงด้วยเหตุผล การให้สิ่งจูงใจ และการชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น หากจำเป็นต้องยุบโรงเรียนบางแห่ง รัฐบาลต้องจัดให้มีรถรับส่งนักเรียนหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่นักเรียนที่ต้องเดินทางไกลขึ้น หรือในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลมากจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ หรือให้สามารถการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ ส่วนการจับคู่โรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนใหญ่มีส่วนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะต้องมีการออกแบบระบบจูงใจและวัดผลเพื่อให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนขนาดใหญ่ยินดีเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก
ส่วนปัจจัยด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยยังขาดการสร้างค่านิยมที่ดีทางการศึกษา สังเกตได้จากการอ่านหนังสือของคนไทยที่มีอัตราต่ำมาก จำนวนนักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษากลางคันเนื่องจากต้องไปช่วยผู้ปกครองทำมาหากิน และโอกาสในการเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงหรือโอกาสยกฐานะทางสังคมที่บางส่วนยังคงให้ความสำคัญกับเส้นสายและฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่าความรู้ความสามารถ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยจึงไม่ใช่เพียงการปฏิรูประบบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการปฏิรูปค่านิยมและกลไกทางสังคมด้วย
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://img1-cdn.newser.com/image/819104-6-20110608142531.jpeg