"อาหารที่ถูกทิ้ง" (Food Waste) : ปัญหาท้าทายรัฐบาลเกาหลีใต้ (2)

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

บทความครั้งที่ผ่านมาผมได้พูดถึงปัญหาอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลฮ่องกงอาทิ การลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งของคนในชุมชน การบริจาคอาหารผ่านโครงการต่างๆ การคิดราคาขยะ และการคัดแยกขยะ เป็นต้น ในครั้งนี้ผมอยากเสนอบทเรียนเพิ่มเติมสำหรับนโยบายการแก้ปัญหาอาหารที่ถูกทิ้งที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องอาหารที่ถูกทิ้งเช่นเดียวกับฮ่องกง

ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาอาหารที่ถูกทิ้งไม่ต่างอะไรกับหลายประเทศทั่วโลก เพราะเมื่อพิจารณาปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งระหว่างปี 2008 และ 2012 พบว่า อาหารที่ถูกทิ้งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 3 ต่อปี อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2012 ประเทศเกาหลีใต้ ต้องรับมือกับปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งมากกว่า 17,000 ตันในแต่ละวัน ซึ่งสูงกว่าไต้หวันถึง 3 เท่า ในขณะที่เกาหลีใต้มีปริมาณประชากรมากกว่าไต้หวันเพียง 2 เท่า ดังนั้นการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งของคนในชาติ จึงถูกนำมาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


แนวทางในการแก้ไขปัญหาอาหารที่ถูกทิ้งของประเทศเกาหลีใต้ มีดังนี้

1. การลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง เช่น

โครงการลดอาหารที่ถูกทิ้งภายในประเทศ

รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการแก้ปัญหาปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง และเน้นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชาติในเรื่องนี้ผ่านโครงการต่างๆ ในประเทศ เช่นในปี 2010 กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดโครงการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งภายในประเทศ ผ่านการทำข้อตกลงกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม หรือ โรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ภายใต้โครงการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง มาตรการในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ถูกคิดค้นขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ร้านอาหารต่างๆ ที่ต้องลดปริมาณจำนวนจานอาหารที่เสิร์ฟให้น้อยลง คิดค้นเมนูอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงเรียนที่มีความพยายามปรับเปลี่ยนปริมาณอาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค (นักเรียน) อย่างแท้จริง ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป หรือในส่วนของสมาคมโรงแรมเกาหลีที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมในการรณรงค์ให้เกิดลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งทั้งในระดับก่อนบริโภคและหลังบริโภค เป็นต้น

การคิดราคาอาหารที่ถูกทิ้ง

การที่เทศบาลต่างๆ ในเกาหลีเริ่มการคิดราคาอาหารที่ถูกทิ้งตามน้ำหนัก หรือปริมาณที่แท้จริง ส่งผลทำให้ประชาชนในประเทศตระหนักถึงปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เทศบาลสามารถเลือกวิธีการคิดเงินค่าอาหารที่ถูกทิ้ง 3 วิธีดังนี้ 1) กระบวนการระบุตัวบุคคลผ่านคลื่นวิทยุ (Radio Frequency Identification) โดยที่ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนสแกนเข้ากับถังขยะ และระบบจะคิดคำนวณน้ำหนักของอาหารที่ถูกทิ้งและส่งใบเสร็จรับเงินไปเก็บเงินที่บ้านอีกครั้ง 2) การใช้ชิพหรือสติกเกอร์ โดยรัฐบาลจะให้แต่ละครัวเรือนมีถังอาหารที่ถูกทิ้งในครัวเรือนเมื่อประชาชนต้องการทิ้ง พวกเขาต้องติดสติกเกอร์หรือชิพลงบนถังขยะ และหากไม่มีชิพหรือสติกเกอร์จะไม่สามารถทิ้งอาหารที่ถูกทิ้งได้ และ 3) การใช้ถุงขยะที่ถูกออกแบบพิเศษสำหรับอาหารที่ถูกทิ้งโดยเฉพาะโดยที่ประชาชนสามารถซื้อถุงขยะในราคาต่างๆ ตามร้านค้าทั่วไปก่อนนำไปทิ้ง เป็นต้น

2. การรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้ง

โครงการรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้งถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ในประเทศเกาหลีใต้ โดยผู้ทิ้งอาหารที่ถูกทิ้งรายใหญ่ อาทิ ร้านอาหารต่างๆ ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้ง และในส่วนของภาคครัวเรือนต้องมีความรับผิดชอบในการแยกอาหารที่ถูกทิ้งก่อนนำไปทิ้งเช่นกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้ง ได้แก่

ปัจจัยด้านกฎหมาย

การออกกฎหมายห้ามมิให้ฝังกลบขยะที่ถูกทิ้งในปี 2005 ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การคัดแยก และ การรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้งภายในเกาหลีใต้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดูได้จากอัตราการรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้งในปี 2000 และ ปี 2009 ที่ถือได้ว่ามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือมีการรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้งกว่าร้อยละ 95 ในปี 2009 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2000 ที่คิดเป็นร้อยละ 45 เท่านั้น

ปัจจัยด้านงบประมาณ

นอกจากปัจจัยด้านกฎหมาย ปัจจัยด้านงบประมาณจากรัฐบาลถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน เหตุเพราะรัฐบาลได้สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก และ มวลชีวภาพได้ภายในประเทศ อีกทั้งในปี 2013 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทุ่มงบกว่า 782.3 พันล้านวอน (24.4 พันล้านบาท) ในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตก๊าซชีวภาพกว่า 17 แห่งเพื่อเปลี่ยนอาหารที่ถูกทิ้งให้อยู่ในรูปของพลังงานชีวภาพได้ในทุกปี

โดยสรุปการรีไซเคิลอาหารที่ถูกทิ้งในเกาหลีใต้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จและสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศที่ต้องการพัฒนาระบบการรีไซเคิลภายในประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ถึงแม้ว่าอาจไม่มีสถิติที่ชัดเจนที่แสดงถึงปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะในประเทศไทย แต่หากพิจารณาปัญหาและสถานการณ์ขยะโดยรวมในประเทศไทยถือว่าน่าเป็นห่วงมาก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ขยะมูลฝอยในรอบปีที่ผ่านมาสูงถึง 26.77 ล้านตัน เทียบเท่าตึกสูง 100 ชั้นมากกว่า 100 ตึกมาเรียงต่อกัน ขณะที่การกำจัดขยะยังทำได้ไม่ดีนัก ทำให้ขยะมูลฝอยสะสมตกค้างมากถึง 19.9 ล้านตัน ดังนั้นหากเราสามารถแก้ปัญหาอาหารที่ถูกทิ้ง และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ผ่านการส่งเสริมให้มีระบบการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ มีการออกกฎหมายบังคับใช้และมีการริเริ่มการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งลงได้ตามแนวทางของเกาหลีใต้ ย่อมมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองในประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง


ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://thai.cri.cn/mmsource/images/2013/02/01/9e6f39f38eaf47c38b60c93ab2b474a7.jpg