สร้างการปรองดองของพี่กับน้อง

 
ในอดีตเมื่อสังคมเป็นสังคมเกษตรกรรม เราคงเคยได้ยินว่าหลายครอบครัวนิยมมีลูกหลาย ๆ คนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ คือเพื่อมาช่วยทำงาน แม้ว่าค่านิยมนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบันคือ แต่ละครอบครัวมีลูกจำนวนน้อยลง แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน อันทำให้เกิดปัญหาที่มักพบบ่อย ๆ คือ ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน อิจฉากัน แย่งของกัน รู้สึกไม่รักกัน ชิงดีชิงเด่นกัน ซึ่งจะพบมากในเด็กวัย 1-5 ปี และในหลายกรณี ปัญหานี้ไม่ได้หายไปเมื่อเด็กโตขึ้น กลับยังคงเป็นปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ทอดยาวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่ไม่มีพ่อแม่คนใดปรารถนาให้เกิดขึ้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงที่มาของปัญหานี้และแก้ไขด้วยวิธีการที่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก 

 
ปัญหา ?พี่น้องทะเลาะกัน? มักเกิดในครอบครัวที่มีพี่น้องอายุไล่เลี่ยกัน อันที่จริงการทะเลาะกันของเด็กเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติตามวัยของเด็ก เกิดได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น เด็กแย่งของเล่นกัน พูดอวดของเล่นหรือสิ่งของใหม่ที่ตนเองมี เกทับอีกฝ่ายหรือ พูดอวดความสามารถหรือความสำเร็จ  ฯลฯ โดยสิ่งที่ตามมาเมื่อพี่น้องทะเลาะกันคือ การพูดจาต่อกันด้วยน้ำเสียงหรือคำพูดที่รุนแรง พูดกดอีกฝ่ายว่าด้อยกว่า ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ และอาจเกินเลยถึงขั้นใช้กำลังต่อสู้กัน ในขณะที่เด็กยังคุมอารมณ์และการตอบสนองของตนเองไม่ได้ดีนัก รวมทั้งยังประเมินแรงหรือยั้งแรงไม่เป็น ทำให้การตอบสนองรุนแรงจนอีกฝ่ายบาดเจ็บ กลายเป็นความไม่ชอบ ไม่พอใจ หรืออาจเลยไปเป็นความเกลียดชังกันได้หากพ่อแม่ปล่อยในเกิดสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
 
พ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลอบรมสั่งสอนลูกแต่ละคนจึงมีหน้าที่ต้องจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามศึก ไกล่เกลี่ย  ตัดสิน ให้คุณให้โทษ ทำความเข้าใจ ออกกติการ่วม  เพื่อให้เกิดความปรองดองรักใคร่ระหว่างลูก ๆ  ให้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่เขายังเป็นเด็กและไม่ปล่อยให้เด็กสร้างนิสัยชิงดีชิงเด่น เอาแต่ใจตัวเอง อิจฉาริษยา ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี ซึ่งจะทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ดังนั้นก็เริ่มต้นที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ถูกต้องในพี่น้องก่อน    
 
ในขั้นต้น พ่อแม่ต้องสามารถจับสัญญาณของการไม่พอใจกันให้ได้ก่อน โดยสังเกตได้จากคำพูดของลูก เช่น เมื่อลูกคนใดคนหนึ่งบอกว่า หนูไม่ชอบพี่ ไม่รักน้อง พี่ไม่น่ารัก น้องไม่น่ารัก หรือพูดว่าพ่อแม่รักพี่มากกว่า หรือรักน้องมากกว่า คำพูดเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้พ่อแม่ต้องหันมาดูอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 
 
มีสาเหตุหลัก ๆ บางประการที่ทำให้พี่น้องเกิดความไม่พึงพอใจกัน อาทิ คนใดคนหนึ่งคิดว่าตนเองกำลังถูกพี่หรือน้องแย่งความรักของพ่อแม่ไป เช่น กรณีที่ลูกคนโตยังอายุ 3-4 ปี แล้วมีน้องแรกคลอด ซึ่งพ่อแม่อาจจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ จนไม่ได้ให้ความสนใจกับลูกคนแรกเหมือนเดิม กรณีนี้ ลูกคนแรกอาจรู้สึกว่าน้องมาแย่งเวลา แย่งความรัก แย่งความสนใจ ออกไป ข้อที่ควรปฏิบัติสำหรับพ่อและแม่คือการแสดงออกถึงความรักที่มีให้กับทั้งพี่และน้องอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันด้วยคำพูดว่าหรือการชวนให้พี่มาช่วยดูแลน้องใหม่ เช่น ?พ่อแม่ยังรักหนูเหมือนเดิม แต่น้องยังเล็กอยู่ พ่อแม่จึงต้องช่วยน้องมากหน่อย เหมือนตอนหนูยังเล็กเท่าน้อง พ่อแม่ก็ดูแลหนูแบบนี้? หรือ ?เรามาช่วยกันดูแลน้องดีไหม หนูคิดว่าจะช่วยดูแลน้องตรงไหนได้บ้าง? 
 
อีกกรณีคือ ลูกคิดว่าพ่อแม่ลำเอียง กรณีนี้มักเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีลูกคนใดคนหนึ่งมีลักษณะหรือคุณสมบัติบางด้านโดดเด่นกว่าลูกคนที่เหลือ เช่น อาจมีความสามารถโดดเด่นกว่าลูกคนอื่น มีอุปนิสัยตรงตามที่พ่อแม่ต้องการ มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณภายนอกน่ารักเป็นที่เอ็นดูของพ่อแม่หรือคนในครอบครัว เป็นต้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ เช่น พ่อแม่บางคนมักพูดว่า ?ทำไปลูกถึงดื้ออย่างนี้ ไม่ว่านอนสอนง่ายเหมือนน้องเลย? หรือ พ่อแม่บางคนอาจจะดูแลลูกคนที่เรียนเก่ง มากกว่าลูกคนอื่นที่เรียนไม่ดีนัก สิ่งนี้เป็นเหตุหนึ่งของปัญหาด้วย ในบางกรณี พ่อแม่อาจไม่สามารถดูแลลูกทุกคนได้ จึงเลือกเลี้ยงลูกคนเล็กเองได้และฝากลูกคนโตให้ญาติช่วยเลี้ยง พอลูกกลับมาอยู่ร่วมกัน ลูกคนที่ไปฝากเลี้ยงอาจตีความว่าพ่อแม่รักลูกคนโตน้อยกว่าคนเล็ก 
 
ในหลายครอบครัวอาจมี ?กติกา? ในครอบครัวที่ไม่ชัดเจน เช่น บางครอบครัวไม่ได้กำหนดกติกาในการแบ่งของเล่นระหว่างพี่น้องว่าแต่ละคนจะเล่นได้นานเท่าใด พอลูกคนหนึ่งเล่นของบางอย่างนานโดยไม่แบ่งให้อีกคนเล่น ก็เกิดการทะเลาะกัน ยิ่งเด็กเล็กมากเท่าใดก็ยิ่งมีโอกาสทะเลาะกันง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะเด็กยังอายุน้อย ขาดทักษะในการเข้าสังคม  การเล่นด้วยกัน จึงจำเป็นที่พ่อแม่ต้องกำหนดกฎกติกาในครอบครัว เช่น การพูดจาต่อกัน การแสดงออกต่อกัน การใช้ของร่วมกัน ฯลฯ 
 
นอกจากแนวทางข้างต้นแล้ว พ่อแม่ต้องพูดในแง่ดีของลูกแต่ละคนให้ลูกคนอื่น ๆ ฟังเสมอ เช่น ?พี่ชอบชมหนูให้พ่อฟังบ่อย ๆ  ว่าหนูเป็นเด็กที่มีน้ำใจ แบ่งของให้พี่เขาเล่น? ?น้องเขาชมพี่ให้แม่ฟังบ่อย ๆ  ว่าพี่ใจดีเป็นห่วงและรักเขามาก? สิ่งนี้จะช่วยเติมความรู้สึกที่ดีระหว่างกันให้เกิดขึ้น พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงการพูดเปรียบเทียบหรือดุฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายฟัง 
 
พ่อแม่ต้องหมั่นสื่อสารและเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความเห็น ซักถาม หรือถกเถียงได้เสมอ เช่น ลูกอาจสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ใช้เขาทำงานบ้านมากกว่าน้อง หากพ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้ถาม แต่กลับพูดว่า ?อย่าถามมาก ขี้เกียจทำใช่ไหมถึงถามอย่างนี้? ก็จะยิ่งทำให้ลูกไม่เข้าใจเหตุผล เกิดติดค้างในใจ กลายเป็นความไม่เข้าใจและความสับสน หรือลูกอาจสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ให้พี่ไปเที่ยวกับเพื่อนแต่กลับไม่ให้เขาไป เป็นต้น การเปิดให้ลูกถามช่วยป้องกันไม่ให้ลูกคิดไปเอง ตีความไปเอง ซึ่งอาจทำให้ลูกได้คำตอบที่ผิดจากเจตนาของพ่อแม่ กลายเป็นความไม่พอใจสะสมจนอาจขยายเป็นความเกลียดชังกันระหว่างกันพี่น้องได้   
 
ประการสุดท้ายซึ่งสำคัญมากคือ พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ปัญหา เพราะลูกจะสังเกตว่าเวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่จัดการปัญหาอย่างไร หากพ่อแม่จัดการปัญหาด้วยความรุนแรง ลงไม้ลงมือแทนการพูดกันด้วยเหตุผล ไม่มีการพูดคุยหรือแก้ปัญหาด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ ลูกจะจำเป็นแบบอย่าง เมื่อลูก ๆ มีปัญหาขัดแย้งกันย่อมจะเลียนแบบวิธีการของพ่อแม่ในการแก้ปัญหาเช่นกัน เช่น ลงมือทำร้ายร่างกายกัน  งอนกัน กระทืบเท้าใส่ ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อกันในการแก้ปัญหา เป็นคำสอนที่มี ?ชีวิต? ให้ลูกเห็นได้จากชีวิตจริง พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาและการสร้างความปรองดองในครอบครัว
 
การอยู่ด้วยกันในหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว หากสมาชิกในครอบครัวเรียนรู้ที่จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ด้วยการใช้ความรุนแรงทางคำพูดหรือการกระทำ ย่อมเป็นการสร้างรากฐานที่ดีให้สังคมในภาพรวมแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีเช่นกัน อนาคตของสังคมจึงอยู่ที่พ่อแม่ในวันนี้ที่จะเลี้ยงลูกขึ้นมาให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
 
ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 518 เดือน เมษายน 2558
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.b7dental.com/img/slider/slide1.jpg